ในการที่เราจะเข้าใจ Mega Trend หรือแนวโน้มใหญ่ต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองนั้น สิ่งที่เราจะต้องรู้ก็คือพฤติกรรมของคนในโลกและในประเทศซึ่งก็มักจะสอดคล้องใกล้เคียงกันเนื่องจากโลกเรานั้นเป็น Globalization ในการศึกษาพฤติกรรมของคนนั้น เราพบว่าคนในแต่ละยุค หรือพูดให้ชัดก็คือคนที่เกิดในช่วงเวลาที่ต่างกันนั้นมักจะมีแนวคิดหรือพฤติกรรมต่างกัน ซึ่งนี่ก็เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์หรือพัฒนาการสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น เกิดสงครามโลก หรือเกิดระบบอินเตอร์เน็ตที่ประชาชนทุกคนสามารถใช้ได้เป็นต้น
ในทางวิชาการได้มีการจัดคนที่เกิดในช่วงปีต่าง ๆ ออกเป็นกลุ่มที่มีคำเรียกแทนลักษณะสำคัญของคนในยุคสมัยหรือรุ่นนั้น โดยที่ผมจะเริ่มจากยุคที่แก่ที่สุดที่ยังมีจำนวนและบทบาทอยู่ในปัจจุบันนั่นก็คือ ยุค Baby Boom หรือยุค “ลูกมาก” นี่คือคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1945 ซึ่งเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีเด็กเกิดใหม่มากมาย การที่ครอบครัวจะมีลูก 5-6 คน เป็นเรื่องธรรมดา บางบ้านมีเป็นสิบคน ยุค “เบบี้บูม” นี้สิ้นสุดลงในปี 1964 หรือกินเวลาประมาณ 19 ปี และถ้านับถึงวันนี้ก็คือกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 48 ถึง 67 ปี ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น และดังนั้นผมก็จะมีไอเดียหรือแนวคิดหรือมุมมองต่อโลกแบบหนึ่งของคนที่อยู่ในยุคนี้ นอกจากนั้น ผมก็พอจะเข้าใจว่าคนในรุ่นนี้มักจะคิดอย่างไรต่อเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตและในสังคม
พวกเบบี้บูมหรือถ้าจะพูดในวันนี้ว่าเป็นพวก “คนแก่” นั้น มักจะเป็นคนที่ “อนุรักษ์นิยม” เป็นคนที่ชอบประเพณีที่ดีงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและ “ศีลธรรมอันดี” พวกเขาจะชื่นชอบและเคารพเชื่อถืออะไรก็ตามที่เป็น “สถาบัน” ของประเทศหรือของสังคมหรือชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ คนที่ไม่ยึดถือประเพณี ความเป็นระเบียบ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวถึงนั้นจะถูกมองว่าเป็น “คนไม่ดี” และจะต้องถูกลงโทษทั้งทางด้านของสังคมและกฎหมายถ้ามี แม้แต่ในเรื่องของความรู้สึกส่วนตัวที่เป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” เช่นเรื่องของเซ็กส์ก็ถูก “ควบคุม” โดยสังคม คนที่ฝ่าฝืนมักถูกสังคมต่อต้านอย่างรุนแรง ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับชายโดยที่ยังไม่ได้แต่งงานกลายเป็นหญิงที่มี “มลทิน” ในบางสังคมซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย นี่คือคุณลักษณะคร่าว ๆ ของเบบี้บูมเมอร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากหรือน่าจะมากที่สุดในบรรดากลุ่มทั้งหลายที่ผมจะกล่าวต่อไป ประเด็นก็คือ บทบาทหรืออิทธิพลของพวกเขานั้นยังสูงยิ่ง ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อย่างไรก็ตาม พวกเขาอาจจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว นับวันก็จะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ ว่าที่จริง นายกรัฐมนตรีของไทย 2 คนสุดท้ายของเรานั้น ก็ไม่ได้เป็นพวกเบบี้บูมเมอร์แล้ว
คนรุ่นต่อมาที่มีพฤติกรรมและแนวความคิดเปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นเบบี้บูมนั้น คือคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1965 ซึ่งถือเป็น “ลูกคนแรก” ของพวกเบบี้บูม จนถึงคนที่เกิดก่อนปี 1981 คิดเป็นเวลาประมาณ 16 ปี หรือถ้านับถึงวันนี้ก็คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 31 ถึง 47 ปี นี่คือกลุ่มที่เรียกว่า “Generation X” ซึ่งเป็นชื่อที่คนที่ศึกษาไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรจึงใช้คำว่า X คนกลุ่มนี้ถูก “ค้นพบ” เมื่อมีการศึกษาโดยนักเขียนอังกฤษชื่อ Jane Deverson ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปสำรวจและสอบถามความคิดของเด็กวัยรุ่นเพื่อตีพิมพ์ในแมกกาซีน แต่สิ่งที่เธอพบนั้นกลับทำให้เธอ “ขวัญผวา” เพราะเธอพบว่าเด็กวัยรุ่นเหล่านั้นมีมุมมองและความคิดที่ขัดแย้งกับความเชื่อและความคิดเดิมอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น พวกเขาส่วนใหญ่ไม่เคารพนับถือพ่อแม่ ไม่เชื่อในพระเจ้า และหลับนอนกันก่อนแต่งงาน แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ พวกเขาไม่ชอบ “สถาบัน” ซึ่งทำให้บทความนั้นไม่สามารถตีพิมพ์ในอังกฤษได้ และเพื่อให้บทความหรือผลการศึกษาไม่เสียเปล่า เธอจึงไปร่วมเขียนเป็นหนังสือกับนาย Charles Hamblett ที่อเมริกาและตั้งชื่อว่า Generation X
คน Gen-X นั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นคน “ต่อต้านสังคม” และ “ต่อต้านสถาบัน” พวกเขาอยากเป็นคนทำงาน “อิสระ” มากกว่าที่จะเป็นลูกจ้างบริษัทใหญ่ ๆ ในทางสังคมนั้น พวกเขาเห็นว่าการหย่าร้างเป็นเรื่องปกติ การอยู่กินกันโดยไม่แต่งงานก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นเดียวกับการเป็นเกย์หรือเลสเบียน ยุคนี้เป็นช่วงที่เทคโนโลยีทางด้านข่าวสารข้อมูลและอินเตอร์เน็ตกำเนิดขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงคุ้นเคยและใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การค้นหาข้อมูลและความรู้ทำได้แค่ปลายนิ้ว ผลจากความก้าวหน้าทางด้าน IT ทำให้การก่อตั้งกิจการขนาดย่อมเกิดขึ้นมากมายจากคนเจนเอ็กซ์ พวกเขาเป็นนักคิดสร้างสรรค์ที่สร้างผลงานใหม่ ๆ มากมายให้กับโลกและกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ ๆ โดยไม่มีข้อจำกัด ในทางสังคมและการเมือง คนรุ่น Gen X นั้น เน้น “ความเท่าเทียม” กันสูง ผู้หญิงไม่ยอมเป็น “ช้างเท้าหลัง” อีกต่อไป ความสามารถในการพึ่งพาตนเองทำให้คนรุ่นนี้มีลูกน้อย บางทีก็ไม่ต้องการเลย
คนรุ่นต่อมาคือ Gen Y นี่คือ “เด็กรุ่นใหม่” ที่เกิดจากคนรุ่นเบบี้บูมหลังจากปี 1981 จนถึงปี 1997 ซึ่งก็คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ถึง 31 ปี นี่คือคนที่เกิดมาก็มีระบบอินเตอร์เน็ตใช้กันอย่างกว้างขวางแล้ว ดังนั้น พวกเขาไม่คุ้นเคยกับแนวทางชีวิตของคนรุ่นเก่าเลย เพื่อนของเขาส่วนใหญ่ติดต่อกันผ่านทางการส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ พวกเขาไม่ดูทีวีหรือดู “หนังแผ่น” แต่ใช้วิธีดาวน์โหลดภาพยนต์จากอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก คน Gen-Y นั้น มีความเป็น “สากล” มาก การมีเพื่อนที่เป็นคนต่างชาติและต่างวัฒนธรรมเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกับการมีแฟนเป็นคนต่างชาติ การนิยมชมชอบวัฒนธรรมหรือศิลปินจากต่างชาติก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน พวกเขา “ไม่ต่อต้านสถาบัน” แต่ใช้วิธี “หลีกเลี่ยง” มากกว่า คน Gen-Y นั้น เป็นพวกที่มีจินตนาการสูง พวกเขาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในด้านของงานอาชีพ พวกเขาชอบทำงานในด้านของ IT และธุรกิจทางด้านความบันเทิงมากกว่างาน “ใช้มือ” อย่างอื่น ที่สำคัญ พวกเขาอยากทำงานที่ทำให้ รวยเร็วหรือดังเร็ว การเงินก็เป็นหนึ่งในนั้น
ผมคงไม่พูดถึง Gen Z ซึ่งก็คือเด็กที่อายุไม่ถึง 15 ปี ในปัจจุบันซึ่งเป็นหลานของเบบี้บูม แต่จะพูดถึงนักลงทุนที่เป็น VI ในประเทศไทย เหตุผลก็เพราะว่าจากการสังเกตผมพบว่า VI ไทยที่ประสบความสำเร็จสูงและมีพอร์ตขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับอายุนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นคน Gen-X ซึ่งก็คือ VI ที่มีอายุระหว่าง 31- 47 คนกลุ่มนี้ผมคิดว่าอยู่ในสถานะที่ “ได้เปรียบที่สุด” ในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เหตุผลก็คือ หนึ่งพวกเขาเป็นลูกของเบบี้บูมที่ได้สะสมความมั่งคั่งไว้มากพอที่จะให้ลูกได้เริ่มลงทุนอย่างเต็มที่ได้ ข้อสอง พวกเขาเป็นนักลงทุนที่มักจะไม่ได้ผ่านเหตุวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ดังนั้น พวกเขาเข้าตลาดในช่วงที่ตลาดหุ้นเติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคงมากตลอดมา ข้อสาม พวกเขาได้เรียนรู้หลักการ VI มาตั้งแต่เริ่มเข้าตลาด ดังนั้น จึงมีหลักการการลงทุนที่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก และข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดก็คือ พวกเขาเป็นคนที่ไม่ติดยึดกับอะไรที่เป็น “สถาบัน” พวกเขาไม่คิดว่าจะต้องทำงานและเติบโตตามระบบหรือในบริษัทขนาดใหญ่ ตรงกันข้าม พวกเขาอยากเป็น “อิสระ” โดยการทำธุรกิจเช่น ตั้งบริษัทขนาดเล็กและเป็นตัวของตัวเอง หลายคนมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นแบบ VI เป็นหนทางแห่งความสำเร็จทางหนึ่ง และโชคดี หลายคนได้บรรลุความฝันนั้น
INFO: โลกในมุมมองของ Value Investor, ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร, http://portal.settrade.com/blog/nivate/2012/11/26/1206