------------------------------------------ ------------------------------------------------------------ trader: จิตวิทยาการลงทุน : Psycho

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จิตวิทยาการลงทุน : Psycho

[Psycho] Part 1 : A Lesson in Trading Psychology

     วันนี้ผมในฐานะ "ราชาโปรเจคใหม่" แห่งวงการเทรดของไทย (ตั้งตำแหน่งให้ตัวเอง น่าเกลียดมาก) ขอนำเสนอ โปรเจคใหม่ให้แก่ท่าน นั่นคือ โปรเจค งานแปล "จิตวิทยาการลงทุนนนนนนน" (ลากเสียง Echo ยาวๆ เพื่อให้รู้สึกตื่นเต้น) วันนี้ พอดีว่าไปเจอ ชุดบทความ เรื่อง Trading Psychology ที่ผมชอบและรู้สึกว่าเป็นประโยชน์ จึงออกอาการคันมือ อยากแปลให้ทุกท่านได้อ่านกันอีกแล้ว (ทำยังกับว่าตัวเองว่างจัด ไม่นับงานสอนเทรด, งานตอบคำถามนักเรียนตัวเอง, งานดูแล website ตัวเอง, งานเผยแพร่ Forex, งานตอบคำถามบุคคลทั่วไป และ งานโปรเจคแปลหนังสือเทรดที่ค้างอยู่)

     ที่จริง “จิตวิทยาการลงทุน” เป็นสิ่งที่ผมหาอ่านมาตลอด, หนังสือภาษาไทยหาอ่านได้น้อยมาก ผมหาซื้อมาหลายปี ก็ยังไม่เจอเล่มไหนที่ตอบโจทย์ที่ผมต้องการ ผมจึงคิดว่าคงต้องหันไปดูภาษาอังกฤษ และแล้ววันนี้ ผมก็เจอสิ่งที่ถูกใจผม อ่านตอนแรกแล้วรู้สึกว่าชอบเลย (Love at first sight) เพราะผู้แต่งเขียนแบบ รูปธรรม เห็นภาพชัด ได้ประโยชน์มาก (ตัวผมเองชอบแนวนี้ ที่เห็นชัดๆ สอนได้ เข้าใจง่าย ทำตามได้จริง ซึ่งเป็นจุดเด่นในการสอนเทรดของผม) และแต่ละตอนไม่ยาวนัก คิดว่าน่าจะแปลเบาๆ สลับกับ ตำรา Price Action หนักๆ ที่ผมกลังแปลอยู่ได้พอดี, ผมเลยเริ่มปฏิบัติการแปลให้ทุกคนได้อ่านกันซะเลย

ต้นฉบับเป็นของ Credit : Dr.Brett N. Steenbarger, Ph.D. / www.brettsteenbarger.com






(เริ่มต้นการแปล จากตรงนี้เป็นต้นไป)

     ย้อนกลับไปในปี 2004, ตอนผมเพิ่มเข้าบริษัทเทรดใหม่ๆ ใน Chicago (Kingstree Trading, LLC, a proprietary trading firm) ผมโชคดีมากที่มีโอกาสได้เรียนรู้ และ “สังเกต” วิธีทำงานของ เทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จหลายๆ ท่าน

     มีอยู่บทเรียนหนึ่งที่โดดเด่นมากในใจผม, เหตุการณ์คือ นักเทรดท่านหนึ่งเห็นแรงซื้อเข้ามาในตลาด(Note ผู้แปล : คิดว่าผู้แต่งคงตั้งใจไม่พูดถึงว่า Identity ของเทรดเดอร์ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ), เขาโดดขึ้นเข้าออเดอร์ซื้อทันที ผมสังเกตจากปริมาณที่เขาซื้อก็พอบอกได้ว่า เขาเข้าซื้อเพราะเขาเห็นโอกาสที่จะ Break High สูง, แต่หลังจากเข้าซื้อแล้ว ปรากฏว่าไม่เป็นไปดังที่คาดคิดไว้, ราคากลับย่ำอยู่กับที่ ไปไม่ถึงเป้าหมาย แล้วก็หักหัวลง, เทรดเดอร์ท่านนั้น โดดออกจากออเดอร์ทันทีโดยเสียไป 1 ช่องราคา

เขาหันมาบอกผมว่า “ฉันเพิ่งจ่ายค่าซื้อข้อมูลไป”
      จากนั้นอีกหลายนาทีต่อมา ราคาเด้งขึ้นอีกครั้ง สูงกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ Volume นั้นน้อย ไม่มีผุ้เล่นรายใหญ่อยู่ฝั่ง Long, เทรดเดอร์ท่านนั้นก็ Sell อย่างหนัก และ ได้กำไรมาหลายจุด อย่างรวดเร็ว

     เหตุการณ์นี้สอนไว้ว่า, ครั้งแรก เขาได้เข้าเทรด (ซึ่งเป็นการเข้าที่ดี) แต่ปรากฏว่าไม่ได้ดีอย่างที่คาดไว้ เขาไม่ได้มองว่ามันเป็นความเสียหาย ความล้มเหลว หรือ ภัยคุกคาม, เขามองว่าเป็นแค่การซื้อข้อมูล, ตลาดกำลังบอกเขาว่า ราคาคงไม่สามารถเอาชนะ High เดิมได้จริงๆ

     เขาเข้าออเดอร์แรก และ ออกจากออเดอร์ แล้วใช้ออเดอร์ที่แพ้เล็กๆ นั้น ในการเตรียมตัว เพื่อให้ได้มาซึ่ง ออเดอร์อันต่อมาซึ่งชนะ, นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมากเรื่อง “จิตวิทยาการเทรด”

     ถ้าการอ่าน “สัญญาณล่วงหน้า” (Set up) ของคุณนั้นถูกต้อง, ผลลัพธ์มันจะมีแค่ 2 ชนิด, 1.ออเดอร์ที่ทำกำไรให้คุณ และ 2.ออเดอร์ที่ให้ข้อมูลกับคุณ   (Note ผู้แปล : ผู้แต่งตั้งใจจะสื่อชัดๆว่า แม้ออเดอร์นั้นโดน Stop Loss ก็อย่าคิดว่าเป็นความพ่ายแพ้ เพราะเมื่อเราเข้าตามระบบแล้วยังโดน Stop Loss, ถือว่าเป็นการแพ้ในระบบ ซึ่งจะเป็นการให้ข้อมุลที่เป็นประโยชน์แก่เราในภายภาคหน้าต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประเมินตลาดอย่างที่เห็นในบทความนี้ หรือ การจะเอาข้อมูลนั้นมาปรับปรุงระบบต่อไป)


[Psycho] Part 2 : Accepting the Obvious (ยอมรับสิ่งที่เห็นชัดๆ)







     สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับอีเมล์ที่มีคำถาม ที่ทำให้คิดถึงมุมมองเก่าๆ ของผม, เนื้อหาคือ ทำไมมีเทรดเดอร์ ต่อต้าน การ break out หรือ เทรดสวนเทรน แม้ว่ามันเห็นชัดมาก ? บางครั้งผมเห็น เทรดเดอร์ ปฏิเสธที่จะเข้าออเดอร์ ตอนที่ทะลุ Low เดิม เพียงเพราะว่า “ฉันไม่อยากจะขายที่ Low”, ที่แย่กว่านั้นคือ เทรดเดอร์ทื่ถือออเดอร์ที่ต้านเทรนอยู่ เพราะพยายามเชื่อว่า “มันจะต้องกลับมา” หรือ “ตลาดกำลังถูกปั่นจากเจ้า” งานนี้ต้องย้อนกลับไปถึงพื้นฐานการเทรด

     Volume จะบอกคุณว่า เทรดเดอร์และ นักลงทุน กำลังยอมรับราคา ณ เวลานั้นๆ, ถ้าตลาดตลาดกำลังเทรดอยู่ในช่วงราคาแคบๆ มาระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นทะลุขอบบนของช่วงราคาไป ด้วย Volume มากๆ, มันหมายถึงว่า ตลาดได้ยอมรับราคาที่สูงขึ้นเรียบร้อย, สมมุติว่า คุณเป็นเจ้าของชิ้นงานศิลปะ ในงานประมูล พอเริ่มประมูลก็พบว่า มีผู้ประมูลจำนวนมาก เสนอราคาประมูลสูงๆ และเสนออย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดหย่อน, ณ ตอนนั้น ที่คนกลังเริ่มรุมประมูล คุณควรเข้าใจว่า ชิ้นงานศิลปะของคุณ ยังไม่ถึงราคาขายที่ดีที่สุด ดังนั้นเห็นได้ชัดว่า คุณไม่ควรจะขายงานศิลปะของคุณให้กับ กลุ่มผู้ประมูลกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มแข่งกันอย่างดุเดือด ที่ราคาเริ่มต้น !

     ตลาดก็ดำเนินในลักษณะเดียวกัน บนพื้นฐานของการประมูล Bid-Offer, (ดู หนังสือ Mind Over Markets , หนังสือที่ยอดเยี่ยมของ Jim Dalton และ ผู้แต่งอื่นๆ สำหรับการพูดถึงเรื่อง ทฤษฏี การประมูล และ ใช้ประโยชน์จาก สภาพตลาด) ในแต่ละวัน, เราได้เห็นการประมูลเหมือนงานศิลปะ ในตลาด S&P, NASDAQ, พันธบัตร, ฯลฯ

     การเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดหย่อนระหว่าง คนซื้อ กับ คนขาย เป็นสิ่งกำหนดราคาของตลาด, เมื่อเราเห็น Volume ขยายออกพร้อมๆ กับเมื่อราคาวิ่ง เมื่อนั้นเราก็ควรจะหนักว่า ตลาดไม่สมดุลอีกต่อไป มันจะวิ่งไปในทิศนั้นๆ จนกว่ามันจะได้แรงที่สมดุลระหว่า แรงซื้อกับแรงขาย ที่ราคาใหม่จึงจะหยุดลงได้

     บางครั้ง ผมลองถามเทรดเดอร์ว่า ตอน Break out นั้น เกิดอะไรขึ้นกับ Volume ? บ่อยมากที่ผมจะได้รับคำตอบว่า “ไม่รู้” เพราะ เทรดเดอร์นั้นสนใจแต่กับราคา และ ความอยากเข้าทำต่อการวิ่งของราคา จึงทำให้พลาดความสำคัญของ พื้นฐานเรื่องการประมูลไป

     มันมีกฎอันหนึ่งที่กล่าวถึงกัน คือ เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในตลาด เทรดเดอร์ที่ดี จะสนใจต่อตลาด และ ความหมายของเหตุการณ์, ส่วนเทรดเดอร์ที่แย่ จะสนใจตัวเขาเอง และ ความหงุดหงิดจากการพลาดเหตุการณ์นั้น แล้วมัวแต่คิดว่า จะเอาคืนได้อย่างไรเป็นต้น, ผมเคยเห็นแม้แต่การพลาดเทรนชัดๆ ทั้งวัน เพียงเพราะพวกเขามัวแต่ยึดติดว่า ได้พลาดการเล่น Break out ตอนแรกไป

     นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกเหตุผล จะทำให้พลาด การเคลื่อนไหวที่เห็นชัดๆ, จะยกตัวอย่างสักสามอันที่เกี่ยวข้องกันให้ดู ว่า “การปฏิเสธที่จะยอมรับ สิ่งที่เห็นชัดๆ”

                1. ผู้หญิงคนหนึ่งไปหาที่ปรึกษา เรื่องปัญหาครอบครัว, หล่อนเล่าว่า สามีกลับบ้านดึกตลอด ไม่ใช้เวลาร่วมกับเธอ บอกว่าทำงานบริษัทดึก แต่เวลาโทรไปบริษัทเขาไม่เคยอยู่ที่นั่น, มีครั้งหนึ่งเขาพบของใช้ผู้หญิงในรถ เมื่อถามสามี เขาก็ตอบว่าเป็นของภรรยานั่แนหละที่ลืมทิ้งไว้นานแล้ว, ที่ปรึกษาเลยบอกว่า สามีคงจะมีหญิงอื่น ผู้หญิงคนนั้นได้ยินแล้ว โกรธมาก และต่อว่าที่ปรึกษาว่า หล่อนมาเพื่อซ่อมแซมความเสียหาย ไม่ใช่มาทำลาย, หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ สามีก็ย้ายออกจากบ้านไปอยู่กับผู้หญิงคนใหม่

                2. คนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายคนหนึ่ง วันหนึ่งอาการแย่ลงกระทันหัน, ผลการตรวจแลป ชี้ว่ามะเร็งระยะสุดท้ายได้ลุกลามไปทั่วร่างกาย, หมอได้นัดพูดคุยกับครอบครัว เรื่อง การบรรเทาความเจ็บระยะสุดท้าย ด้วยการปล่อยผู้ป่วยให้ไปด้วยดี ครอบครัวผู้ป่วยโมโหมาก และยืนยันให้ใช้การรักษาที่เข้มข้นขึ้นอีก เพื่อที่ผุ้ป่วยจะได้กลับบ้านและทำงานต่อได้, ขณะที่กำลังพูดกันนั้น ผุ้ป่วยไม่สามารถถืออะไรได้ แม้แต่อาหารที่จะเข้าปาก เพราะร่างกายซูบผอมจัด ติดกระดู และ คนนอกเห็นได้ชัดมากว่า กำลังทรมาน

                3. ผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็กโดยพ่อของหล่อนเอง ได้ยืนยันว่า พ่อของหล่อนดูแล ห่วงใย และ พยายามทำให้หล่อนเจ็บปวดน้อยที่สุดในวัยเด็ก, ซึ่งขัดกับหลักฐานว่าหล่อนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทุบตี และ ถูกทำให้อับอายขายหน้าบ่อยๆ, หล่อนยืนยันว่า คนที่ผิดคือหล่อน ที่ทำให้พ่อไม่พอใจบ่อยๆ และ ไม่ยอมรับคำว่า ทารุณ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, หล่อนอยู่ในภาวะหดหู่มาตลอดถึงทุกวันนี้ แต่ก็ยังพยายามติดต่อพ่อซึ่งปฏิเสธโทรศัพท์มาตลอด

     ทั้งสามกรณีที่ยกมา ความยากในการยอมรับสิ่งที่เห็นชัดๆ เป็นผลมาจาก “ความต้องการเชื่อ” ที่จะเชื่อในสิ่งที่แตกต่างออกไป, ปัญหาไม่ใช่แค่ ตาบอดจากโลกความเป็นจริง แต่หนักกว่านั้นคือ ความต้องการที่จะมีโลกที่แตกต่างจากความเป็นจริง, กลับมาที่การเทรด, ถ้าเทรดเดอร์พลาดที่จะเข้าตอน Breakout (หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ อยู่ฝั่งตรงข้ามแล้วกำลังเจ็บหนัก) เทรดเดอร์จะอยู่ในภาวะที่ต้องการตลาดที่แตกต่างจากความจริง, และเมื่อความต้องการนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ตลาด มันก็เริ่มกลายเป็นความเห็นของพวกเขา และ เมื่ออีโก้(ความทรนงในตนเอง) เข้าครอบงำแล้วก็จะกลายเป็นภาวะที่มีชื่อเฉพาะที่เรียกกันว่าภาวะ “แต่งงานกับความเห็นของตัวเอง”

     วิธีที่ผมพบว่ามีประโยชน์ คือ การสร้างแผน “ถ้าเกิดว่า...” ซึ่งจะช่วยเตรียมการไว้ให้กับสภาวะจิตของเราอย่างชัดเจน, สมมุติ เรากำลังจะเล่นแค่เด้งในกรอบราคาจำกัด ให้คิดล่วงหน้าไว้เลยว่า “ถ้าเกิดว่า”ราคา ทะลุเส้นขอบเขตการเด้งของเราออกมา ด้วย Volume, เราจะรับมืออย่างไร ? ถ้าหุ้นขนาดกลางทะลุเส้นออกมาเหนือช่วงขอบเขต แม้ว่าตลาดโดยรวมจะยังเด้งในขอบเขตละ ? เราจะทำอย่างไร, “ถ้าเกิดว่า”ราคาไปทดสอบ High แต่ว่า Volume ไม่มีละ? พวกแผน “ถ้าเกิดว่า…” เหล่านี้จะป้องกันเทรดเดอร์จากการถูกดักอยู่ในความคิดของเขาเอง ซึ่งจะกลายเป็นความเห็น และ การแต่งงานกับความเห็น, “วางแผนเทรดแล้ว เทรดตามแผน” คือวิธีหลักที่ดี แต่เทรดเดอร์ที่ดี ย่อมจะมีแผนสำรองเสมอ

     ท้ายสุด, ลองพิจารณาสถานการณ์ตรงกันข้าม, เมื่อเทรดเดอร์อยากจะเชื่อว่า การ Break out กำลังจะเกิด แต่ตลาด อยู่ในสภาพ Sideway, ราคาเด้งไปเด้งมาอยู่ในกรอบเดิม, “คามต้องการเชื่อ” อาจจะทำงานอีกครั้งตรงนี้, เทรดเดอร์ที่เข้าออเดอร์โดยหวัง Break out เอาไว้ ยอมรับความจริงไม่ได้ว่า ตลาดเจอราคาที่สมดุลและย่ำอยู่ตรงนี้, Volume น้อยๆ สามารถบอกอะไรกับเราอย่างชัดเจนได้ดีพอๆ กับ Volume มากๆ หากคุณเปิดใจรับฟังมัน, ตลาดที่มีปริมาณ Volume น้อยๆ ไม่สามารถดึงดูดผู้เล่นจาก Time Frame อื่นๆ ได้ จึงขับเคลื่อนด้วย กำลังจากเฉพาะผู้เล่นเดิมๆ, ซึ่งถ้าเราไปคาดการณ์ Break out ก็จะสามารถ overtrade ง่ายมาก หากไม่รอหลักฐานที่เพียงพอ, ลางบอกเหตุสำหรับเรื่องนี้คือ เทรดเดอร์เริ่มบ่นกันว่า “ตลาดจะไม่ขยับเลยใช่ไหม”, พวกเขาหงุดหงิด เพราะพวกเขากำลังขัดขืน และพยายามต่อสู้กับตลาด แทนที่จะก้าวตามสิ่งที่ตลาดทำ (Note ผุ้แปล : หมายความว่า ถ้าตลาดเป็น Sideway เราก็ควรจะเล่นโหมด Sideway คือเล่นเด้ง ไม่ใช่หวังเล่น Break out)

     เป็นจริงตามที่เขากล่าวกันว่า ปัญหาส่วนมากจะหาทางออกด้วย การหนีความจริง เมื่อความต้องการเชื่อของเรา ขัดกับ โลกความเป็นจริง

     ขอบคุณ Bob Kieffer (www.r7.com) and Bill Duryea (www.marketshaman.com) ในการเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบทความนี้ จากการสังเกตอันยอดเยี่ยมของพวกเขา


[Psycho] Part 3 : สิ่งที่ทำให้เทรดเดอร์หน้าใหม่ ประสบความสำเร็จ (Training New Traders: What Makes for Success)

       ในวงการเทรดเป็นที่เข้าใจและยอมรับกันอย่างเอกฉันท์ว่า ยิ่งนานวัน ตลาดยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ, ทำให้จะหาทางทำกำไรจากช่องว่างเล็กๆ น้อยๆ ยากขึ้นเรื่อยๆ, ความท้าทายของตลาดก็มากขึ้นเรื่อยๆ และ เริ่มมีการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยมากขึ้นเรื่อยๆ, จะเห็นได้ว่า มีคนจำนวนหลายพันคน ที่พยายามแข่งขันจริงจัง เพื่อเอาชนะการเทรดในระดับที่เลี้ยงดูครอบครัวได้ คุณต้องตระหนักว่า การเทรดเองก็ไม่แตกต่างจาก การแสดง หรือ การแข่งขันกีฬา : มีคนถูกเรียกเข้ามาทดสอบจำนวนมาก, แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จ

     เพราะผม (ผู้แต่ง Dr.Brett S.) เป็นผู้บริหารของ โปรแกรมฝึกเทรดเดอร์หน้าใหม่ของ บริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในชิคาโก, ผมจึงมีทั้งข้อมูล และ ประสบการณ์เกี่ยวกับ ความสำเร็จและความล้มเหลวของเทรดเดอร์หน้าใหม่ๆ เหล่านั้น

     ผมดูแลโปรแกรม Internship ของ Kingstree Trading LCC. จึงถูกถามบ่อยๆว่าผมมองหาอะไรจากผู้สมัครเป็นเทรดเดอร์, สิ่งที่ผมมักจะถามผู้สมัครคือ “คุณมีคุณสมบัติที่ดีอะไรบ้าง” ซึ่งผมรู้อยู่แล้วว่า คำตอบมักจะเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของ “แรงจูงใจ” (motivation) แต่ผู้ตอบจะทำสิ่งเหล่านั้นที่ตอบออกมาได้จริงตอนเข้าโปรแกรม หรือ การเทรดจริงได้หรือเปล่านี่อีกเรื่อง

     แรงจูงใจ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จ, แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอ, มันยังมีสิ่งอื่นที่จำเป็นสำหรับความสำเร็จในการเทรด เช่นเดียวกับนักกีฬา, นักแข่งหมากรุก หรือ นักแสดง, คงไม่มีใครบอกว่าเขาควรจะได้เข้าทีม บาส Chicago Bulls หรือ ร่วมแสดงกับ Joffrey Ballet เพียงเพราะเขามีแรงจูงใจมากพอ, เทียบเคียงดังนี้แล้ว เพียงแค่ “แรงจูงใจ” ย่อมจะไม่เพียงพอสำหรับการเป็นเทรดเดอร์ที่ดีแน่ๆ

     ที่น่าสนใจมากคือ “แรงจูงใจ” ที่เกิด มักจะเป็นเพียงแค่ความอยาก “ประสบความสำเร็จ” ไม่ใช่ ความอยาก “ทำให้ประสบความสำเร็จ”, มีเทรดเดอร์จำนวนมากที่บอกว่า พวกเขามีแรงจูงใจมากกับการเทรด แต่เมื่อถึงเวลาตลาดปิดปุ๊บ ก็ออกจากบริษัทหลักทรัพย์ปั๊บ ไม่เคยเห็นความพยายามของพวกเขาในการศึกษาตลาด นอกเวลาทำงานเลย, รวมทั้งใช้ความพยายามน้อยมากในการศึกษาการเทรดของตัวเอง, เมื่อเทรดเดอร์เหล่านี้จำเป็นต้องบันทึกการเทรดตามหน้าที่ ก็จะเห็นแต่ข้อความทำนองว่า “ต้องมีวินัยมากกว่านี้” โดยไม่เขียนระบุว่า วินัยแบบไหน อะไรที่ทำผิดวินัยลงไป ทำไมถึงผิดวินัย จะไม่ให้ผิดวินัยในอนาคตได้อย่างไร การกระทำไหนที่จะป้องกันการผิดวินัย จะติดตามการแก้ปัญหาเรื่องวินัยอย่างไร ? คำถามทั้งหมดนี้ไม่เคยได้รับการตอบ เพราะการจะตอบนี้เป็นงานเต็มๆ และ เป็นงานหนักซะด้วย, แค่ความอยากไม่ใช่แรงจูงใจ, แรงจูงใจควรจะวัดจากการแสดงความพยายามออกมา ไม่ใช่แค่ความอยากหรือความหวัง ที่ปราศจากการลงมือทำ

     เทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากที่ผมรู้จัก พวกเขาเริ่มต้นจากการทบทวนการเทรดของพวกเขาอย่างจริงจังหลังจากจบการเทรดแต่ละช่วง, นอกเวลางาน พวกเขาก็จะศึกษาการเทรดของพวกเขา ทบทวนการเคลื่อนไหวของตลาด ทบทวนการตัดสินใจของพวกเขา ระหว่างการศึกษา พวกเขาจะทำการบันทึกด้วย และเน้นจุดสำคัญที่ทำถูก และ ทำผิด, จากการบันทึกเหล่านี้ พวกเขาได้พัฒนาสิ่งพิเศษที่พวกเขาเห็นและเข้าใจตลาด(ระบบ)ขึ้นมา, การทบทวนเหล่านี้ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ซึ่งหยาดเหงื่อแรงงานเหล่านี้ จะทำให้เทรดเดอร์มีการเตรียมตัวที่ดีกว่าเทรดเดอร์คนอื่น, เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆเดือน ความพยายามที่สะสมมาทุกวันพวกนี้จะทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างที่เลี่ยงไม่ได้คือ พวกเขาจะมีประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับมุมมองของตลาดมากกว่าคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญกว่าคือ การได้สัมผัสกับระบบของตัวเอง จนเข้าใจถ่องแท้, ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัท Kingstree มองหามากกว่าเทรดเดอร์ที่พูดลอยๆว่า “ผมมีแรงจูงใจ”

     โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า พวกเราอยู่ในยุคที่ต้องพัฒนาศักยภาพของเทรดเดอร์โดยการพัฒนา “เป้าหมาย” โดยการวางแผนระยะยาว มากกว่า “ผลลัพธ์”เฉพาะหน้า เช่น รายงานของตัวเอง และ สรุปผลลัพธ์การเทรด P/L ง่ายๆ, เพราะตลาดนับวันจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทหลักทรัพย์จึงต้องหาทางสกัดเอาคุณค่าที่ซ่อนอยู่ลึกไปไกลกว่า “แรงจูงใจ” นั่นคือ “aptitudes” (Note ผู้แปล: คำนี้เป็นคำที่แปลยากที่สุดหนึ่งคำ แปลได้ใกล้สุดคือ ความรู้สึก ชื่นชอบ ที่มีต่อสิ่งนั้นๆ) ในบริษัท Kingstree เรามีการฝึก intern โดยให้มี mentor (พี่เลี้ยง) กำกับโดยตรง, มีการเก็บสถิติในแต่ละช่วงการเทรด และจะมีการให้คำแนะนำในสภาวะตลาดจริง, จากนั้นจะส่งเสริมให้ Advance-Intern ทดลองกลยุทธ์ต่างๆ และ จะช่วยชี้จุดแข็ง จุดอ่อนของพวกเขา, เราเชื่อว่า การขัดเกลาด้วยวิธีนี้จะทำให้เร่งกระบวนการเรียนรู้ได้ดี และ ลดเวลาในการเดินทางกว่าจะเป็น “พอร์ตเขียว” ของเทรดเดอร์ใหม่ๆ ได้

     บริษัทหลักทรัพย์มักจะพูดว่า พวกเขามองหาเทรดเดอร์และแรงจูงใจ, แต่คำพูดนี้เป็น ดาบสองคม, ตัวบริษัทแม้มี “แรงจูงใจ” ในการอยากได้เทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จ แต่อาจจะแสดง “ความพยายาม” ในการพัฒนาตัวเทรดเดอร์ไม่เพียงพอ, เวลา แรงงาน การสอน การประกบ การเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ถ้าต้องการพัฒนาศักยภาพของเทรดเดอร์ เช่นเดียวกับ กีฬา หรือ การแสดง, โค้ชหรือครูสอน ต้องฝึกร่วมกับ นักกีฬา/นักแสดง อย่างหนัก ทุกวัน, ลองคิดดูว่า ถ้าบริษัทต้องให้ mentor มาประกบเทรดเดอร์ใหม่ เพื่อสอนทุกวัน ตัว mentor คงไม่มีเวลาเทรดเต็มที่ ซึ่งหมายถึงรายได้ที่ลดลง, การที่บริษัทรับภาระชดเชยรายได้ให้ mentor นี่เป็นการแสดงออกถึงความทุ่มเทอย่างมาก, ถ้าบริษัทไหนที่ พัฒนาเทรดเดอร์ใหม่ โดยการให้ mentor แนะนำไม่กี่คำหลังการเทรด เพราะ mentor ต้องเทรดของตัวเองเต็มที่แล้ว คงต้องพิจารณาถึงคำว่า “แรงจูงใจ” ของบริษัทหลักทรัพย์เช่นกัน

     เทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จ มีบางอย่างที่เหนือกว่าเทรดเดอร์อื่นๆ นับพัน ในตลาดการแข่งขันนี้, อะไรคือ บางอย่างที่ว่านั้น ? ถึงตรงนี้คุณน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า “ความชื่นชอบในสิ่งนั้น” (Passion), “แรงจูงใจ” (Motivation), “แรงปรารถนา” (Desire) และ “ทำงานหนัก” (Hard work) คือ สิ่งที่ต้องมี และ สุดท้ายแล้ว จำเป็นที่จะต้องแปลงสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็น “ทักษะ” ด้วยการฝึกฝน, ให้อ่านเรื่องราวของเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จ สังเกต หรือ ถ้ามีโอกาสก็ สอบถาม เทรดเดอร์เหล่านั้นว่าอะไรคือทักษะสำคัญเหล่านั้น แล้ว ฝึกฝนเลียนแบบทักษะเหล่านั้น, แล้วคอยถามตัวเองอย่างตรงๆ ว่า มีทักษะเหล่านั้นหรือยัง, ถ้ามีแล้ว ให้พัฒนาแผนที่จะรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ให้ได้ นี่แหละคือ สิ่งที่จะทำให้การเทรดประสบความสำเร็จ !



[Psycho] Part 4 : การฝึกซ้ำๆ เพื่อให้เกิดทักษะ

ต้นฉบับ Credit : Dr.Brett N. Steenbarger / www.brettsteenbarger.com Image Credit : google.com, keyword : Sandy Koufax






     เพราะผม (Dr.Brett) เป็นทั้งนักจิตวิทยา และเป็นเทรดเดอร์, ผมจึงเป็นทั้ง โค้ช และ ลูกศิษย์สำหรับการฝึกเทรดให้ตัวเอง, งานที่ต้องทำหลักๆเลย คือ การเอาความรู้ที่มีอยู่แล้วมาใช้จริง, รับมือเรื่องอารมณ์, ปรับรูปแบบนิสัย และ เรื่องวินัยที่ดีอื่นๆ ซึ่งเรื่องพวกนี้เอง ที่แยกระหว่าง นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ กับนักกีฬาธรรมดา

     มีงานวิจัยจำนวนมาก ที่ค้นคว้าไว้เกี่ยวกับเรื่อง จิตวิทยาของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในสาขา ศิลปะ, วิทยาศาสตร์, กีฬา และ การเมือง. Dean Keith Simonton นักจิตวิทยาจาก Univ. of California และ K. Anders Ericsson นักจิตวิทยาจาก Florida State Univ. เป็นสองท่านที่มีผลงานด้านนี้อย่างโดดเด่น, ทั้งสองได้ชี้ไว้ว่า ความสำเร็จขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นในสาขาวิชาใด ล้วนเป็นผลมาจาก ความต่อเนื่อง, ความจริงจัง และ การฝึกฝนอย่างทุ่มเท ซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นทักษะขั้นสูงฝังลึกเข้าไปในตัวบุคคล จนกระทั้งเมื่อถึงจุดหนึ่งจะทำได้อย่าง “อัตโนมัติ” (Note ผู้แปล : สำหรับเทรดเดอร์ ผมเคยพูดถึงเทรดเดอร์ขั้นสูงสุด ที่เรียกว่า Auto Pilot ไว้ในวีดีโอเผยแพร่เกี่ยวกับ “ระดับของเทรดเดอร์และวิธีพัฒนา”* ของผม)
      มีบทความอันหนึ่ง ได้กล่าวถึง นักเบสบอลในตำนาน Sandy Koufax (ตำแหน่งคนขว้างลูก), Koufax ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า สิ่งที่ดีกว่าการพยายาม นั่งหาว่าอะไรคือตัวแปรในการขว้างที่ดี คือ การซ้อมขว้างซ้ำๆไปเลย, การฝึกซ้ำ คือ กุญแจสำคัญสำหรับ การซ้อมกอล์ฟ หรือ ฝึกตีลูกเบสบอล, นักขว้างเบสบอล อยากขว้างให้ได้เหมือนเดิมเป๊ะ ทุกครั้งที่ต้องการ. Jane Leavy, ผู้แต่งหนังสือ ชีวประวัติ Koufax ได้เขียนไว้ว่า สี่งที่ยากที่สุดสำหรับนักกีฬาไม่ใช่ การทำให้ผลงานได้ดีหนึ่งครั้ง แค่เป็นการทำผลงานดีให้ได้ซ้ำๆ
      ย้อนกลับมาที่การเทรดของผมเอง, ผมสามารถทำซ้ำในระดับที่น่าพอใจ โดยการพัฒนา “ชุดเงื่อนไข” ที่กำหนด การเข้า ออก และ ขนาดของออเดอร์ (Note ผู้แปล : เรื่องนี้ ผมบังเอิญคิดเหมือนผู้แต่ง โดยผมมักจะอธิบายเวลาว่า “ระบบเทรด” คือ “ชุดเงื่อนไช”ในการเข้า-ออก ออเดอร์), ชุดเงื่อนไข เหล่านี้ส่วนใหญ่ มาจากการค้นคว้าของผมในเรื่อง คุณภาพของเทรน, ผมต้องการจะเข้าเมื่อ ตลาดเริ่มมีทิศทาง และ ความเป็นเทรนเริ่มมากขึ้น จากนั้นก็ออกตอนที่เทรนเริ่มหมดลง, และ มีสามารถเข้าออเดอร์เพิ่มได้อีก ถ้า เทรนระยะสั้น กับ ระยะกลางเริ่มชี้ไปทางเดียวกัน เพื่อบังคับให้ตัวเอง อยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้, ผมได้เขียน webblog ประจำวัน, ซึ่งก็คือบันทึกประจำวันออนไลน์ ที่ผมตั้งใจจะใช้ติดตาม การประเมินเทรน, สถานะของเทรน และ วางแผนการเทรดสำหรับวันต่อไป, Blog บังคับให้ผมโฟกัสอยู่กับ พื้นฐาน และ กำจัด “ตัวแปร” ที่ไม่จำเป็นออกจากการเทรดของผม, นั่นก็คือช่วยลด การคิดมากเกินควร และ การขัดแย้งกันเองภายในใจของผมระหว่างเทรด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการเข้า-ออก ออเดอร์ (Note ผู้แปล : เข้าใจว่าการเขียนช่วยอย่างที่ผู้แต่งบอกได้ เพราะเวลาเขียนบทความ เราจะต้องไม่ฟุ้มเฟ้อ พูดแตกประเด็นมั่วไปเรื่อย จำเป็นต้องโฟกัสว่า เรากำลังพูดประเด็นอะไรอยู่ จึงทำให้เราโฟกัสอยู่กับหัวข้อหลักได้) และมันเป็นเครื่องมือที่ไม่เลวเลยสำหรับการประจานตัวเอง เพราะเป็นการประกาศความผิดพลาดของผมสู่สาธารณะด้วย

*http://www.youtube.com/watch?v=7FtAarvjwnQ&feature=plcp



 
[Psycho] Part 5 : สิ่งสำคัญสุดในการโค้ชการเทรดให้ตัวเอง

ต้นฉบับ Credit :  Dr.Brett N. Steenbarger / www.brettsteenbarger.com  Image Credit :  google.com, keyword : Target + Goal


     ล่าสุดผม (Dr. Bertt S.) ได้รับคำถามจากผู้อ่านมา ว่า “ผมไม่มีเงินมากพอที่จะจ้าง โค้ชการเทรด, ถ้าอยากจะโค้ชให้ตัวเอง ผมต้องทำอะไรบ้าง” เช่นเดียวกับ คำพูดเกี่ยวกับสุขภาพ ว่า “เราจะเป็นไปตามสิ่งที่เรากินเข้าไป”, ในเชิงจิตวิทยาก็เช่นกัน คือ ประสบการณ์ที่เราได้รับเข้าไปในจิตใจ จะหล่อหลอมตัวตนของเราขึ้นมาให้เป็นเรานั่นเอง

     ถ้าเรามีแต่ประสบการณ์ที่เลวร้าย ภายในจิตใจของเราจะเริ่มสร้าง การขาดความมั่นใจ และ ขาดแรงจูงใจ, ทางกลับกัน ถ้าเรามีประสบการณ์ที่ดี มันจะส่งเสริมให้เรามีมุมมองที่ดี ต่อทั้งเรื่องนั้นๆและต่อตัวเราเอง

     ถ้าอยากจะ ฝึกฝนการเทรดให้ตัวเอง, ก้าวที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างประสบการณ์ทีดี ในการเรียนให้แก่ตนเอง เพื่อให้มี แรงจูงใจ ความอยากทำต่อ และ ฝึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ดังนั้น ในการฝึกย่อยแต่ละขั้น เป้าหมายต้องไม่ยากเกินไป

     เราไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตลาดได้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถควบคุมได้ว่า การเทรดครั้งหนึ่งๆนั้นจะชนะเสมอไปหรือไม่, แต่เราสามารถที่จะควบคุมได้ว่า เราจะเทรดอย่างไรได้ นั่นคือ 1.จะเข้าอย่างไร 2.จะเข้าด้วยขนาด(Volume) เท่าไหร่ 3.จะออกอย่างไร และ 4.จะจำกัดการขาดทุนอย่างไร, การมีเงื่อนไขเหล่านี้จะช่วยให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเทรด (Note ผู้แปล : นั่นก็คือการมี “ระบบ” นั่นเอง) มากกว่าไปสนใจแค่ผลลัพธ์แพ้ชนะตอนปิดแต่ลออเดอร์

     สิ่งสำคัญมากในการจะเป็นโค้ชการเทรดให้ตัวเอง ไม่แพ้การมีชุดเงื่อไข(ระบบ) คือ เป้าหมายแต่ละครั้ง ต้องอยู่ในระดับที่พอทำได้ และ ชัดเจน, เพื่อให้ตัวเราเองค่อยได้รับประสบการณ์เชิงบวกที่ดี เพื่อค่อยพัฒนาจิตวิทยาของเราให้ชื่นชอบการเทรด จะได้เดินหน้าฝึกเทรดต่อไปได้เรื่อยๆ และในการฝึกแต่ละครั้ง ก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน, ถ้าฝึกโดยปราศจากเป้าหมาย ก็จะไม่มีความรู้สึกในการถึงเป้าหมาย ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการสร้างความรู้สึกว่า เกิดทักษะ และ ความมั่นใจ ภายในจิตใจ

     ทุกๆขั้นของการฝึก จึงควรจะมีการวางเป้าหมายที่ แน่นอน ชัดเจน พอทำได้จริง และ มุ่งหน้าสู่ เป้าหมายใหญ่, ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการฝึกเทรด คือ การเทรดได้ดี เช่นเดียวกับ นักกีฬาที่ต้องการจะเล่นกีฬาได้ดี ซึ่งรู้ล่วงหน้าได้เสมอ ว่า ถ้าคุณฝึกได้บ่อยและมากพอ คุณจะได้รับผลตอบแทนในส่วนนั้นๆอย่างแน่นอน

     ถ้าฝึกโดยมีทั้ง “เป้าหมายที่ชัดเจน” และ “เป้าหมายอยู่ในระดับที่พอทำได้” แล้วถ้าคุณก็ทำได้สำเร็จ, ก้าวต่อก้าว, คุณกำลังสร้าง ความรู้สึกเชิงบวก ในการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายสูงสุดของการเทรดนั่นเอง

     (Note ผุ้แปล : ผม (Rojer cmFX) ขอเสริมจากต้นฉบับเล็กน้อย ในเรื่องของการวางเป้าหมาย, ดังที่ผมสอนนักเรียนมาตลอด คือ สำหรับเป้าหมายย่อย คือ 1.ให้ฝึกโดยพยายามเข้าใจรายละเอียดของความรู้ส่วนย่อยแต่ละส่วนๆก่อน

     ส่วนเป้าหมายใหญ่ คือ

1.สำหรับช่วงแรกให้ฝึกใน Demo/Paper ก่อน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับทั้งระบบ และ ต่อสภาวะแวดล้อมการเทรดก่อน

2..จากนั้นค่อยลงเงินจริง โดยมีเป้าหมายแรกของพอร์ตเงินจริงอยู่ที่ เทรดให้ได้เท่าทุนก่อน (เรียกว่าเทรดให้ได้ 0%) เพื่อไม่ให้เกิดการท้อระหว่างการฝึก จากนั้นถ้าทำได้แล้วค่อยๆเพิ่ม เป้าทีละนิด 5-10% ไม่แนะนำให้ตั้งเป้าเยอะๆ เช่น 50-100%

3.รักษาวินัยให้ได้ โดยไม่เสียทั้ง Money Management และ ไม่ออกนอกระบบ, เป้าหมายขั้นนี้คือ ให้เกิดเป็นทักษะติดตัว

     ซึ่งจะสังเกตได้ว่า แต่ละขั้นตอน มีเป้าหมายที่ชัดเจน และ ความยากอยุ่ในระดับที่พอทำได้ แต่ก็ไม่ง่ายจนรู้สึกว่าไม่ต้องทำก็ถึงเป้าแน่ๆ)



[Psycho] Part 6 : คำถามสำคัญที่จะช่วยให้หลุดจากภาวะการเทรดตกต่ำ

ต้นฉบับ Credit :  Dr.Brett N. Steenbarger / www.brettsteenbarger.com  Image Credit :  google.com, keyword : Mind Slump


     ฤดูมรสุมเกิดขึ้นทุกปี, ภาวะตกต่ำในชีวิตก็จะเกิดกับทุกคน ทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่การเทรด ตามวิชาสถิติ, เทรดเดอร์ที่มี win rate  60% จะมีโอกาส 2.5% ที่จะเกิดภาวะแพ้ติดต่อกัน 4 ครั้งรวด, แม้ว่าจะดูเหมือนโอกาส 2.5% นั้นไม่เยอะ แต่ด้วยโอกาสความน่าจะเป็น ถ้าคุณเป็นเทรดเดอร์ที่เทรดนานๆ เมื่อปริมาณ ออเดอร์เยอะพอ เหตุการณ์นี้จะต้องเกิดแน่, และเมื่อเทรดเดอร์เผชิญกับภาวะแพ้ติดต่อกันแบบนั้น มักจะตีความกันว่า อยู่ในภาวะ “ตกต่ำ”

     เทรดเดอร์บางคน ถึงกับกลัวภาวะตกต่ำนี้ เพราะเคยเห็นเทรดเดอร์คนอื่นในภาวะที่น่ากลัวนี้ พอร์ตติดลบหนัก หรือ แม้แต่โดนไล่ออกจากอาชีพเทรดเดอร์, จึงทำให้คอยกังวลว่าผลงานตัวเองสักวันจะแย่ ซึ่งยิ่งทำให้คำทำนายว่า “เทรดเดอร์ทุกคนจะมีช่วงที่ตำต่ำ” เป็นจริงง่ายยิ่งขึ้นไปอีก

     เมื่อเทรดเดอร์อยู่ในภาวะตำต่ำ คำถามแรกที่จะผุดขึ้นมาในใจคือ “ฉันทำอะไรผิด” ซึ่งคำถามนี้แม้เกิดจากความตั้งใจที่ดีในการแก้ปัญหา คือ พยายามหาที่มาของปัญหา แต่บางครั้ง คำถามว่า “ทำอะไรผิด” นี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาที่แท้จริง, จิตใจของเทรดเดอร์นั้น ไปยึดติดกับคำว่า “ปัญหา” มากเกินไป จนลืมคิดถึง “ความแข็งแกร่ง” ของตัวเองที่เป็นตัวนำพาพวกเขามาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จตรงนั้น

     เพราะเหตุผลนี้ คำถามที่สำคัญที่สุดในภาวะตกต่ำคือ “อะไรคือสิ่งที่ฉันทำได้ดี” “อะไรคือจุดแข็งของฉันที่คนอื่นไม่มี” หรือ “อะไรคือสิ่งที่นำพาฉันให้ก้าวหน้ามาถึงตรงนี้ได้”

     แบบเดียวกับที่เห็น เทรดเดอร์ที่กำลังชนะติดต่อกันเยอะๆ จะเริ่มเล่นนอกเกมที่ถนัดของพวกเขา, เมื่อเทรดเดอร์แพ้ติดต่อกันเยอะๆ ก็จะเริ่มมีปัญหากับการตัดสินใจ และ จิตวิทยาพื้นฐาน, วิธีแก้ที่ถูกต้องสำหรับทั้งสองกรณี (ทั้งชนะเยอะ และ แพ้เยอะ จนออกนอกเส้นทาง) คือ ให้โฟกัสไปที่การพัฒนา และ ย้อนกลับไปที่พื้นฐาน, ให้ย้อนกลับมาใช้ “ความแข็งแกร่งเฉพาะตัว” ของคุณ เมื่อคุณกำลังรู้สึกผิดปกติ, ด้วยวิธีนี้คุณจะหลีกเลี่ยงได้ทั้ง มั่นใจเกินไป และ ขาดความมั่นใจ ซึ่งเกิดจากการชนะหรือแพ้ติดต่อกัน ที่เป็นผลมาจากโอกาสความน่าจะเป็นล้วนๆ

     นี่เป็นตัวอย่างคำถามที่จะช่วยให้เราโฟกัสอยู่บนความแข็งแกร่งเฉพาะตัวของเราได้

-          ตลาดไหนที่เราเทรดแล้วประสบความสำเร็จ

-          Time Frame ไหน (รวมถึงระยะเวลาที่ถือนานแค่ไหน) ที่ประสบความสำเร็จ

-          ช่วงเวลาไหน ในหนึ่งวัน ที่รู้สึกว่าชนะบ่อยสุด

-          สัญญาณและแผนการเทรดไหนที่ใช้แล้วชนะบ่อยที่สุด

-          เล่นสั้นกับเล่นยาว อันไหนทำให้กำไรดีกว่ากัน สำหรับคุณ

-          ขนาดของออเดอร์ และ Stop Loss แบบไหนที่เข้ากับคุณที่สุด

-          การเตรียมตัวแบบไหน ที่คุณจะทำตอนที่อยู่ในภาวะที่พร้อมที่สุด

-          ในภาวะที่คุณเทรดได้ดี คุณรับมือกับการแพ้อย่างไร

     แนวคิดหลักคือให้รับมือกับภาวะตกต่ำนี้ โดยการกลับมาเล่นในเกมที่คุณทำได้ดี ซึ่งมายความว่า คุณจะต้องคอยเก็บสถิติมาตลอดอายุการเทรดของคุณ และ ระหว่างทางต้องคอยตรวจสอบ เพื่อระบุว่า ภาวะไหนจะส่งเสริม ความเจิดจรัส ของคุณได้ดีที่สุด, ซึ่งความเจิดจรัสนี้ จะเกิดจาก พรสวรรค์ ทักษะ ความสนใจ และ โอกาส ของคุณเอง

     มันยากที่จะอยู่ในวินัย และ ขยันต่อไปอย่าเคย เมื่อทุกอย่างในชีวิตไปได้สวยและง่ายไปหมด, ทางกลับกัน มันก็ยากที่จะโฟกัส “วิธีแก้ปัญหา” เมื่อเกิดปัญหา, ถ้าคุณเอาแต่ถามคำถามว่า “ปัญหาเกิดจากอะไร” ก็จะทำให้จิตวิทยาของคุณโฟกัสผิดที่ และทำให้แก้ปัญหาหนักขึ้นไปอีก

     ภาวะตกต่ำ นั้นจะอยู่แค่ชั่วคราว ถ้าคุณไม่ลืม “จุดแข็งที่ดีที่สุดของคุณ” และ ยืนหยัดฝ่าฟันร่วมกับมัน ดังที่คุณเคยทำมาในอดีต

     (Note ผู้แปล : พูดง่ายๆคือ เวลาเกิดภาวะตกต่ำ อย่าไปพยายามหาว่าทำอะไรผิด แต่ให้คิดว่า เราเคยทำอะไรถูก ถนัดอะไรแทน แล้วก็กลับมาทำในสิ่งเหล่านั้นแทนจนกว่าจะผ่านพ้นภาวะตกต่ำนั้นไป)



[Psycho] Part 7 : วิธีทำงานของ เทรดเดอร์ชั้นนำ

ต้นฉบับ Credit :  Dr.Brett N. Steenbarger / www.brettsteenbarger.com  Image Credit :  google.com, keyword : VAR

     สัปดาห์นี้ ผม (Dr. Brett S.) ต้องติดต่องานกับองค์กรเทรดต่างๆ จึงต้องพบเจอกับ บริษัทเทรดชั้นนำ รวมทั้ง ตัวเทรดเดอร์มือเอกของบริษัทเหล่านั้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก, ผมมีข้อสังเกตหลายอันที่ผมเห็นด้วยตาตัวเองมาในหลายวันนี้

     1. เทรดเดอร์ชั้นนำ จำนวนมาก จะติดตาม และ เทรดในตลาดหลายๆแห่ง,  พวกเขาจะไปยังที่ที่โอกาส กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนั้น, ถ้าขณะใดขณะหนึ่งตลาดหนึ่งกำลังเงียบเหงา ไร้ Volume พวกเขาก็ยังมีตลาดอื่นให้มอง, แตกต่างจากเทรดเดอร์มือใหม่ รายย่อย ที่จะปักหลักอยู่ที่ตลาดแห่งเดียว แต่จะเทรดปริมาณเยอะขึ้นเพื่อพยายามทำให้บัญชีเล็กเติบโตขึ้นได้ แม้ในภาวะที่ตลาดเดิมเหือดแห้ง, เทรดเดอร์มืออาชีพจะมีมุมมองต่อตลาดแบบมุมอง ภาพใหญ่ สู่ภาพย่อย ที่ครอบคลุม (มองภาพจากแนวโน้มของเศรษฐกิจใหญ่ หรือ ทั้งกลุ่มธุรกิจ แล้ว ไปดูบริษัทแต่ละอัน) และ พวกเขาจะมีแบบแผน วิธีมองตลาดที่ชัดเจนเพราะทำจนชิน ซึ่งเทรดเดอร์ที่ไร้ประสบการณ์จะไม่มีเรื่องนี้

     2.  เทรดเดอร์ชั้นนำ จำนวนมาก จะมองภาพรวม, เนื่องจากพวกเขาติดตามตลาดหลายๆแห่ง พวกเขาจึงระวังความสำพันธ์ระหว่างตลาดเหล่านั้น, สิ่งนี้ทำให้พวกเขาพัฒนาแนวคิดที่เชื่อมตลาดทั้งหลายเข้าด้วยกัน สร้างภาพใหญ่ขึ้นมาเป็นหนึ่งเดียว, ตัวอย่างที่ชัดมากคือ การรู้ว่า อัตราดอกเบี้ยรอบโลกเป็นอย่างไร ที่ไหนถูก ที่ไหนแพง จึงทำให้เห็นง่ายมาก ว่าเงินจะไหลจากไหนไปสู่ที่ไหน, อีกตัวอย่างคือ การรู้ว่า สินทรัพย์หนึ่ง ถูกตั้งราคาไว้เท่านี้ แล้วถ้าเทียบกับสินทรัพย์เดียวกันที่ตลาดอื่น พบว่าราคาไม่ตรงกัน ก็จะเห็นโอกาส, เทรดเดอร์มือใหม่ มักจะเพ่งอยู่กับรูปแบบเล็กๆ จนทำให้ลืมมองสิ่งแวดล้อมข้างๆ ทำให้ขาดการมองภาพใหญ่ และ ไม่มีความคิดเกี่ยวกับราคาที่เหมาะสม หรือ ไม่เหมาะสมแบบที่มืออาชีพมอง

     3. ทุกบริษัทเทรดชั้นนำ มีตำแหน่ง “ผู้จัดการความเสี่ยง” ซึ่งจะคอยติดตามผลงานของ เทรดเดอร์แต่ละคน และ ผลงานรวมของทั้งบริษัท, ผู้จัดการความเสี่ยง จะช่วยปรับขนาดของออเดอร์ ตามความหมาะสมสำหรับเทรดเดอร์แต่ละคน และ จะมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในช่วงที่เทรดเดอร์เข้าสู่ภาวะตกต่ำ , หน้าที่บริหารความเสี่ยงนี้หากจะให้เทรดเดอร์แต่ละคนทำด้วยตัวเอง มันจะยากมาก, แต่เทรดเดอร์ระดับมือเอก ก็จะพยายามใช้เวลา และ ความพยายามค่อนข้างเยอะในการบริหารความเสี่ยงนี้ด้วยตัวเองพวกเขาจะรู้ว่าต้องการกำไรสำหรับแต่ลออเดอร์เท่าไหร่ แล้วก็จะใช้ความเสี่ยงที่เหมาะสมลงไป, เป็นเรื่องปกติที่จะเห็น  “เทรดเดอร์เล็กๆ จะใช้ความเสี่ยงที่มากกว่า เทรดเดอร์ใหญ่ๆ” (Note ผู้แปล : ตัวอย่างเช่น พอร์ตทุนเท่ากัน มือใหม่มักจะอยากเทรด Lot หนักมากกว่ากันเยอะ เทียบกับมืออาชีพ)

     4. เทรดเดอร์ชั้นนำ จำนวนมาก หวังไม่เว่อร์ (มีเป้าเติบโตที่สมเหตุสมผล) , เรื่องนี้น่าสนใจมาก ผมไม่เคยได้ยินเทรดเดอร์มืออาชีพคุยกันว่า ตั้งเป้าจะทำให้ทุนโตขึ้นเป็นสามเท่าในหนึ่งปี, แต่เป้าหมายขนาดนี้จะได้ยินจาก เทรดเดอร์เล็ก ที่รู้สึกหลังชนฝา จนต้องมีเป้าขนาดนี้เพื่อให้รอดต่อไป และใช้ความเสี่ยงระดับสูงแบบนี้, เทรดเดอร์ชั้นนำ จะมุ่งเน้นอยู่ที่ “ความยั่งยืน” และ ชอบผลตอบแทนที่มาจาก ความเสี่ยงที่ปรับแล้ว, ผมไม่เคยเจอ เทรดเดอร์เล็ก สนใจเรื่อง การปรับความเสี่ยง หรือ Sharp Ratio ของเขา, ยกตัวอย่างเช่น ผมไม่คิดว่า เทรดเดอร์มือใหม่ สามารถอธิบายถึง หลักการของ VAR คืออะไรด้วยซ้ำไป

     (Note ผู้แปล : VAR : Value at Risk , ขออนุญาตอธิบายคร่าวๆด้วยความเข้าใจอันมีน้อยนิดของผมว่า VAR คือ ค่า(Value) ที่จะมีโอกาสเสี่ยง(Risk) ที่จะสูญเสียไปในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น ถ้าพอร์ตเรามี 5% VAR ที่จะเสีย 1ล้าน ในหนึ่งวัน หมายความว่า ในหนึ่งวันพอร์ตเราจะมีโอกาสเสียเงินหนึ่งล้านเป็นโอกาส 5% (โดยเงินทุนรวมในพอร์ตคงจะมีมากกว่า 1 ล้าน เช่นอาจจะมี 500 ล้าน) หรือ กล่าวอีกมุมว่า ตัวเลขนี้แสดงถึงว่า พอร์ตเรามีโอกาสที่จะเสียเงิน 1 ล้าน ภายใน 1 วัน ถ้าเราเทรดติดต่อกัน 20 วัน (1 / 20 = 5% ), ซึ่งค่า VAR นี้นิยมใช้กันมากใน การประเมินความเสี่ยง, ในหนังเรื่อง “Margin Call” ที่พูดถึงกราฟอันหนึ่งไว้ว่า ความเสี่ยงของบริษัท LEHMAN-BROTHERS ได้เกินขอบเขตที่รับได้ของกราฟไปแล้ว อันเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของบริษัทนี้ และ นำไปสู่ Hamburger Crisis ของอเมริกา ในหนังไม่ได้อธิบายว่ากราฟอะไร แต่น่าจะเกี่ยวข้องกับค่านี้ด้วย)


     5.เทรดเดอร์ชั้นนำ จำนวนมาก ใช้จิตวิทยาเป็นจุดแข็งของตัวเอง , เทรดเดอร์มือใหม่มักจะไม่มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาการเทรด, ปกติแล้ว ถ้าเทรดเดอร์ขาด วินัย, การคุมอารมณ์, ฯลฯ พวกเขาก็จะไม่ได้เข้าทำงานในบริษัทเทรดดีๆด้วยซ้ำไป, ที่จริง แม้แต่เทรดเดอร์ที่ยอดเยี่ยม ก็จะมีวัน Draw Down เช่นกัน, แต่พวกเขาจะฝ่าฟันมันไปโดยมุ่งเน้นหาจุดแข็งของตัวเอง (Note ผู้แปล : เหมือนที่พูดถึงไว้ใน บทแปลจิตวิทยาตอนที่ 6 ว่าจะฝ่าฟันช่วงตกต่ำไปได้ ต้องหาจุดแข็งไม่ใช่จมอยู่กับจุดอ่อนและปัญหา) ไม่ใช่พยายามฝ่าโดยการไปพัฒนาอะไรง่ายๆเช่น แผนการเทรดใหม่ๆ, จุดแข็งที่สำคัญนั้นแหละ ที่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ จิตวิทยาการเทรด ซึ่งมือใหม่ไม่มี, “เมื่อผลการเทรดแย่ลง ต้องคิดบวกให้มากขึ้น” นี่แหละคือสิ่งที่มือใหม่ ไม่เข้าใจกัน

     บทสรุป : สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะแยกระหว่าง เทรดเดอร์มืออาชีพ กับ มือใหม่ ออกจากกันคือ “วิธีทำงาน” ไม่ใช่ “แผนการเข้าออก”, ถ้าอยากจะเป็นมืออาชีพ ก็ต้องทำงานแบบที่มืออาชีพทำกัน, เทรดเดอร์ชั้นเยี่ยมที่ผมรู้จัก จะใช้เวลาค่อนข้างเยอะในเรื่อง ศึกษาตลาด, สร้างภาพรวมการเทรด และ ติดตามความเป็นไปรอบโลก, เราอาจจะวัด ความเป็นมืออาชีพ ได้จาก อัตราส่วนของเวลาที่ใช้  ระหว่าง เวลาเตรียมตัว กับ เวลาเทรดจริง, เทรดเดอร์ที่เก่งที่สุด ก็เหมือน นักกีฬาที่เก่งที่สุด คือ พวกเขาจะใช้เวลาในการฝึก ขัดเกลาฝีมือตลอดเวลา นอกเวลาแข่งขัน, และระหว่างการฝึกฝน พวกเขาไม่เพียงแค่ใช้ จิตวิทยาในการพัฒนาผลการฝึก แต่พวกเขาถึงขั้นมีจิตวิทยาว่า การพัฒนาผลงานให้ดีขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมืออาชีพ และ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปเลย



[จิตวิทยาการลงทุน] Part 8 : เมื่อกังวลว่าเทรดได้ไม่ดี

ต้นฉบับ Credit :  Dr.Brett N. Steenbarger / www.brettsteenbarger.com  Image Credit :  google.com, keyword : Anxiety

     มีปัญหาอยู่อันหนึ่งเป็นปัญหาโลกแตก สำหรับเทรดเดอร์ทุกคน ไม่ว่าจะป็นเทรดเดอร์ใหญ่ในธนาคารแห่งชาติ หรือ เทรดเดอร์อิสระ Part-time ก็ตาม ก็จะมีปัญหา “ความกังวล เรื่องผลงาน”

     ความกังวลเรื่องผลงาน มีผลกระทบโดยตรงต่อฝีมือ แม้แต่กับ คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ไม่ว่าในสาขา กีฬา, ศิลปะการแสดง, และ เกมใช้ทักษะสูง เช่น หมากรุก หรือ โปกเกอร์, ผลกระทบมันจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดความตระหนักในความสำคัญของการกระทำตอนนั้น ซึ่งจะไปส่งผลรบกวนผลงานหรือฝีมือดั้งเดิม

     ฝีมือ หรือ ทักษะ ในการแข่งขันระดับสูงนั้น ปกติแล้วต้องฝึกกันให้อยู่ในระดับ “อัตโนมัติ” ที่เหนือกว่าขั้น “ความรู้ตัว”, ซึ่งความเป็นอัตโนมัตินี้ จะยิ่งสำคัญ ถ้าเป็นการแข่งขันที่ใช้ความเร็วสูง เช่น รถแข่ง, นักบินรบ, นักกีฬาเบสบอล ตำแหน่งตีลูก และ เทรดเดอร์เทรดสั้น, เมื่อนักกีฬา ไปโฟกัสกับความสำคัญของผลลัพธ์มาก ก็จะนำไปสู่การดึงเอา “ความรู้ตัว” ขึ้นมาแทนที่เหนือ ความเป็น “อัตโนมัติ” , จึงกลายเป็นว่า ผลงาน (ที่ปกติเกิดจาก อัตโนมัติล้วนๆ) ถูกรบกวนเต็มๆนั้นเอง

     อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ นักกีฬาบาสเก็ตบอกที่ กำลังยิงลูกโทษ ตอนวินาทีสุดท้ายของเกม ที่เป็นลูกที่ตัดสินแพ้ชนะทั้งเกมเลย หรือนักกอล์ฟที่กำลังพัตต์ลูกตัดสินแพ้ชนะทั้งทัวนาเมนท์, การตะหนักถึงความสำคัญของผลลัพธ์ของลูกสำคัญนั้น ทำให้นักกีฬา เล็งลูกอย่างระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ จึงทำให้ผิดเพี้ยนจากท่าธรรมชาติปกติโดยสิ้นเชิง, เทียบเคียงแบบเดียวกัน สำหรับการเทรด เทรดเดอร์จะคิดมากเกิน ระวังตัวมากเกิน ทำให้ไม่กล้าเทรดแบบธรรมชาติ ซึ่งมักจะทำให้ไม่กล้าเข้าด้วยสัญญาณที่ปกติกล้าเข้า จึงทำให้พลาดโอกาสไปจำนวนมาก, การไปลด ความเสี่ยง (จากที่คำนวณไว้แล้วว่าเหมาะสม) ย่อมทำให้ โอกาสได้ รางวัลลดลงตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ผลงาน

     แล้วอะไรคือสาเหตุของ “ความกังวล เรื่องผลงาน” นี้ ? มันเกิดได้จากสาเหตุมากมาย เช่น การเทรดเสียหนึ่งออเดอร์ แล้วก็กังวลว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการตกต่ำ จึงกลายเป็นปัญหาจริงๆตามมา, หรือ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น ย้ายบริษัทหลักทรัพย์ จึงใจร้อนอยากจะสร้างผลงาน สร้างความประทับใจให้บริษัทใหม่, การมีลูก ซึ่งทำให้ตระหนักถึงภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ การปรับเปลี่ยนขนาดของออเดอร์, เปลี่ยนความเสี่ยง ก็ตาม, การไปโฟกัสว่ามีการเปลี่ยนแปลงพวกนี้จะทำให้อารมณ์ บรรยากาศ และความรู้สึกของเทรดเดอร์เปลี่ยนไป, ซึ่งจะเป็นชนวนในการเกิดความกังวลต่อมา

     มันมีเทคนิคหลายอันที่จะเอาชนะ “ความกังวล เรื่องผลงาน” นี้, แต่ก่อนที่ผม (Dr. Brett) จะนำเสนอให้ทุกท่านอ่าน ผมก็อยากจะได้รับการตอบสนองจากผู้อ่าน โดยอยากให้คอมเมนท์วิธีของท่านเองก่อน (Note ผู้แปล : ผู้แต่งเขาเลือกใช้เทคนิค ให้ผู้อ่านมีส่วนร่วม ซึ่งผมก็ชอบ และเห็นด้วย, ผุ้อ่าน(คนไทย) สามารถที่จะเขียนคอมเมนท์ในหน้านี้ บริเวณด้านล่างของหน้าได้เลยครับ)

     ความกังวลเรื่องผลงาน เป็นสิ่งท้าทายอย่างหนึ่ง ที่เทรดเดอร์ทุกคนต้องเจอ ณจุดใดจุดหนึ่ง หากเลือกเดินเส้นทางสายเทรด, สิ่งที่สำคัญก็คืออย่าปล่อยให้ความกังวล กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา, คำใบ้ที่จะทำให้คุณผ่านไปได้ก็เช่น ความเชื่อมั่นในตัวเอง, อย่าสงสัยในตัวเอง, ความแข็งแกร่งของจิตใจ เป็นต้น, หากคุณเดินทางมาได้ไกลพอ ด้วยฝีมือของคุณแล้ว ก้าวต่อไปของคุณ มันก็แค่อีกก้าว, ออเดอร์ต่อไปของคุณ ก็เป็นแค่หนึ่งออเดอร์แค่นั้น ถ้าคุณเล่นตามแผน เทรดตาม Money management แล้ว แค่หนึ่งออเดอร์คงจะไม่ถึงกับเปลี่ยนชีวิตของคุณทั้งชีวิตหรอก จริงไหม ?



[จิตวิทยาการลงทุน] Part 9 : การเสพติดการเทรด

ต้นฉบับ Credit :  Dr.Brett N. Steenbarger / www.brettsteenbarger.com 

Image Credit :  google.com, keyword : alcoholic

การเสพติดการเทรด
ก่อนที่เราจะไปสู่เรื่อง การเสพติดการเทรด, ผมจะอธิบายว่า นักจิตวิทยา จะประเมินปัญหาการเสพติดแอลกอฮอล์จากผู้เสพติดอย่างไร, นี่เป็นคำถามที่มักจะใช้กันในการประเมินการเสพติดแอลกอฮอล์
1.คุณพบว่าการดื่มเหล้าของคุณ นำปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์
2.คุณเคยรู้สึกผิดกับการดื่มของคุณ
3.คุณต้องการจะดื่มในปริมาณที่มากเกินจุดที่ทำให้รู้สึกดี
4.คุณรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป เมื่อดื่มมากเกินขนาดพอดี
5.คุณรู้สึกว่า มันยากที่จะหยุดพักการดื่ม, แม้ว่าลึกๆแล้วจะรู้ว่า ตรงไหนที่จะดื่มพอดีและควรหยุดตรงนั้น
6.คุณดื่มเพราะมันทำให้คุณรู้สึกดี รู้สึกว่าคุณมีค่าอีกครั้ง
7.คุณไม่สามารถควบคุมได้ว่าคุณควรจะดื่มเท่าไหร่ในบางครั้ง
8.คุณรู้สึกโกรธถ้ามีคนถามเกี่ยวกับการดื่มของคุณ
9.คุณสัญญากับตัวเองว่า จะดื่มปริมาณแค่นั้น เพื่อให้ได้ไปดื่ม, แต่สุดท้ายก็ดื่มมากกว่าที่สัญญาไว้
10.คุณจะดื่มทุกครั้งที่มีจังหวะให้ดิ่ม แม้ว่าความจริงแล้วไม่ควรดื่มในสถานการณ์นั้น




สำหรับหัวข้อ การเสพติดการเทรด : เปลี่ยนคำถามข้างบน ทั้งหลายจาก "การดิ่ม" เป็น "การเทรด" ก็จะได้ดังนี้
1b.คุณพบว่าการเทรดของคุณ นำปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์
2b.คุณเคยรู้สึกผิดกับการเทรดของคุณ
3b.คุณต้องการจะเทรดในปริมาณที่มากเกินจุดที่ทำให้รู้สึกดี
4b.คุณรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป เมื่อเทรดมากเกินขนาดพอดี
5b.คุณรู้สึกว่า มันยากที่จะหยุดพักการเทรด, แม้ว่าลึกๆแล้วจะรู้ว่า ตรงไหนที่จะเทรดพอดีและควรหยุดตรงนั้น
6b.คุณเทรดเพราะมันทำให้คุณรู้สึกดี รู้สึกว่าคุณมีค่าอีกครั้ง
7b.คุณไม่สามารถควบคุมได้ว่าคุณควรจะเทรดเท่าไหร่ในบางครั้ง
8b.คุณรู้สึกโกรธถ้ามีคนถามเกี่ยวกับการเทรดของคุณ
9b.คุณสัญญากับตัวเองว่า จะเทรดปริมาณแค่นั้น เพื่อให้ได้ไปดิ่ม, แต่สุดท้ายก็เทรดมากกว่าที่สัญญาไว้
10b.คุณจะเทรดทุกครั้งที่มีจังหวะให้เทรด แม้ว่าความจริงแล้วไม่ควรเทรดในสถานการณ์นั้น

เป็นที่ยอมรับกันว่า ความกลัว และ ความโลภ เป็นปัจจัยที่จะกระทบต่อการเทรด, แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการเทรดที่ผมพบในฐานะนักจิตวิทยา คือ "การเสพติดการเทรด",

เทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จต้องการที่จะเทรด จะมี "ความรัก" ต่อการเทรด คือทำด้วยความเข้าใจ ยอมรับทั้งข้อดีและข้อเสียของการเทรด โดยเฉพาะการเข้าใจว่าแพ้เป็นส่วนหนึ่งของการเทรด,

ส่วนเทรดเดอร์ที่เสพติดการเทรดจะมี "ความหลง" ในการเทรด คือคิดถึงการเทรดในลักษณะอยากจะ"ทำ" เพราะมันตื่นเต้น ติดใจในการได้เทรด, เทรดเดอร์ที่อยู่ในภาวะเสพติด จะไม่ยอมบริหารความเสี่ยง จะใช้ความเสี่ยงที่สูงมาก เพราะความเสี่ยงและความตื่นเต้น คือสิ่งที่พวกเขากำลังมองหา ไม่ได้ทำเพราะเป็นหน้าที่, พวกเขาจะไม่ยอมหยุดเทรด แม้ว่าจะเสียเงิน เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือการ "ได้เทรด" ไม่ใช่"กำไร", ผู้เสพติด จะมีวงจรที่วนอยู่ระหว่าง รู้จักผิดชอบชั่วดี กับ ขาดความรู้สึกผิดแล้วเข้ากระทำ
เทรดเดอร์ที่ดีจะเทรดอย่างสม่ำเสมอ, ผู้เสพติดการเทรด จะเทรดอย่างเยอะเกินพอดี

เมื่อคุณแยกออกระหว่างสองประเภทนี้แล้วก็ให้ทำในสิ่งที่ควรทำ ก่อนที่การเสพติดจะทำลายชีวิตการเทรดของคุณ และ ผู้ที่ฝากชีวิตไว้กับคุณ,

คุณเปลี่ยนแปลงมันได้ ! จงรักษาสมดุลระหว่าง การเทรด กับ ความสุขในชีวิตเถอะ !




INFO: http://www.chiangmaifx.com/article/93-article-by-rojer/107-trading-psychology.html#part9