------------------------------------------ ------------------------------------------------------------ trader: ก.ล.ต.เปิดชื่อเว็บไซต์เสี่ยง เตือนโพสต์ข้อความลงทุน / 'พ่อมดการเงิน" พ่นพิษแล้ว

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ก.ล.ต.เปิดชื่อเว็บไซต์เสี่ยง เตือนโพสต์ข้อความลงทุน / 'พ่อมดการเงิน" พ่นพิษแล้ว


ก.ล.ต.เตือนนักลงทุนท่องโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ระวังถูกหลอก เปิด 20 นิติบุคคล-เว็บไซต์เสี่ยง ล่าสุดสะกิด 2 เว็บไซต์ดัง "พันทิป" ห้องสินธร และ "สต็อกทูมอร์โร" ให้ระวังการโพสต์ข้อความ

เสี่ยงเข้าข่ายผิดกฎหมายให้คำปรึกษาการลงทุนโดยไม่มีใบอนุญาต และการเผยแพร่ข่าวเท็จ "ภาวิทย์  กลิ่นประทุม" นักลงทุนชื่อดังรับที่ผ่านมามีแก๊งปั่นหุ้นใช้เว็บไซต์ดันราคาหุ้น หลักสูตรลงทุน"พ่อมดการเงิน"ทำนักลงทุนเสียหายแล้ว

    นายธวัชชัย  พิทยโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าล่าสุดก.ล.ต.ได้มีการปรับปรุงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของก.ล.ต.โดยได้เปิดเผยรายชื่อนิติบุคคล เว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต. รวม 20 แห่ง เพื่อให้นักลงทุนระมัดระวังการใช้บริการจากแหล่งข้อมูลดังกล่าว (ดูตารางประกอบ)

    ทั้งนี้ยอมรับว่าพัฒนาการของโซเชียลเน็ตเวิร์กรวดเร็วมากจนก.ล.ต.เองคงตามไม่ทัน แต่จากข้อมูลที่ได้รับจากการร้องเรียนของนักลงทุนซึ่งได้รับความเสียหายพบว่ามีทั้งถูกหลอกให้ลงทุน และถูกหลอกให้เรียนหลักสูตรการลงทุนโดยเสียค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงทั้งหลักสูตรการลงทุนในตลาดหุ้นและสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

    นายธวัชชัย กล่าวอีกว่าช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 มีผู้ได้รับความเสียหายและร้องเรียนผ่าน ก.ล.ต. รวม 38 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่เสียหายจากการถูกชักชวนให้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า,การให้คำปรึกษาการลงทุนและการให้คำแนะนำให้ลงทุน การเปิดสอนหลักสูตรการลงทุน เป็นต้น

    นอกจากนี้ก.ล.ต.ยังชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า ธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ที่ต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ หมายถึง ธุรกิจหลักทรัพย์ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 โดยรายชื่อของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. สามารถค้นดูได้จาก http://www.sec.or.th/licensee/

    ด้านนายภาวิทย์  กลิ่นประทุม นักลงทุนรุ่นใหม่และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เว็บไต์ www.stock2morrow.com ซึ่งถือว่าเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูลการลงทุน รวมทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลงทุนระหว่างสมาชิก โดยผ่านช่องการตั้งกระทู้ ทางเว็บบอร์ด กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเว็บไซต์ www.stock2morrow.com ก็ยังได้รับหนังสือเตือนจากก.ล.ต.ในลักษณะเช่นเดียวกับเว็บไซต์ PINTIP.COM เมื่อประมาณ 2-3 เดือนก่อนและหลังจากนั้นทาง เว็บไซต์ www.stock2morrow.com ก็ติดต่อขอเข้าชี้แจงต่อก.ล.ต.เพื่อคลายความสงสัยแล้วก็เข้าใจในเจตนาของ ก.ล.ต.

    อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเว็บไซต์ www.stock2morrow.com ก็มีความเข้มงวดอยู่แล้วโดยเฉพาะผู้ที่เข้ามาโพสต์ข้อความในบล็อกของเว็บไซต์และผู้ที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้จะต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมามีก๊วนปั่นหุ้นอาศัยเว็บไซต์ดังกล่าวในการโพสต์ข้อความเพื่อจุดประสงค์ในการชี้นำราคา การสร้างราคาหรือปั่นหุ้นให้นักลงทุนหลงเชื่อจริงเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง

    นายภาวิทย์ กล่าวอีกว่าทางทีมงานของเว็บไซต์ได้มีมาตรการดูแลโดยหากพบพฤติกรรมต้องสงสัยก็จะลบข้อความที่สมาชิกโพสต์และตักเตือนไปยังสมาชิกเจ้าของข้อความที่โพสต์ก่อน 1 ครั้ง แต่หากยังทำอีกก็จะต้องตัดออกจากการเป็นสมาชิกทันที ดังนั้นทางทีมงานของเว็บไซต์มั่นใจว่าจะสามารถสกรีนผู้ไม่หวังดีต่อนักลงทุนได้

    นอกจากนี้ยังมีมาตรการดูแลเว็บไซต์ด้วยการเปิดให้สมาชิกเท่านั้นที่แสดงข้อความได้ ซึ่งจะควบคุมได้ง่ายกว่าช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ไม่สามารถควบคุมสมาชิกได้ คือ เฟซบุ๊ก เนื่องจากไม่สามารถหาแหล่งผู้โพสต์ข้อความได้และการไม่สามารถควบคุมผู้แสดงความคิดเห็นได้ด้วย ซึ่งเป็นการยากที่ทางการจะเข้าไปตรวจสอบและเอาผิดผู้โพสต์ข้อความ

    ด้านแหล่งข่าวจากวงการตลาดหุ้น เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการหลงเชื่อด้วยการเสียเงินจำนวนมากจากการเรียนหลักสูตรหรือคอร์สการลงทุนที่ชื่อว่าหลักสูตร "พ่อมดการเงิน" ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวก่อตั้งโดยอดีตเจ้าหน้าที่การตลาดหรือมาร์เก็ตติ้งที่ถูกก.ล.ต.ลงโทษเมื่อหลายปีก่อน

    โดยหลักสูตรดังกล่าวมีการโน้มน้าวว่าให้เข้าอบรมเพียง 7 วัน ก็สามารถลงทุนได้  ขณะที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในสัญญาออพชัน (สัญญาซื้อขายล่วงหน้า)เฉลี่ย 70% ต่อเดือน  และสร้างสถิติผลตอบแทน 78.57%ใน 7 นาที เป็นต้น ขณะที่ด้านค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมจะสูงมากอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อคอร์ส

    นางภัทธีรา  ดิลกรุ่งธีระภพ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์(สมาคม บล.)และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า พัฒนาการของโซเชียลเน็ตเวิร์กไปไกลมากมีทั้งประโยชน์และโทษต่อการลงทุน ดังนั้นนักลงทุนต้องระมัดระวัง ซึ่งต้อมยอมรับว่าอาจจะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีหรือกลุ่มที่เห็นโอกาสใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงนักลงทุนได้ อาทิ การสื่อสารกันโดยผ่านบล็อก ของเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก เป็นต้น

    ดังนั้นสมาคมบล.มีข้อเสนอเพื่อหาทางแก้ไขด้วยการมีบทลงโทษให้ชัดเจนต่อผู้ที่กระทำเกินหน้าที่จากใบอนุญาตที่ตนได้รับ ซึ่งอาจช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาในเบื้องต้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันมีนักวิเคราะห์ที่นักลงทุนติดตามอ่านบทวิเคราะห์ทั้งในเฟซบุ๊ก และในบล็อกของเว็บไซต์ เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจมีการให้คำแนะนำที่เกินหน้าที่ตามที่ได้รับใบอนุญาต กล่าวคือ นักวิเคราะห์บางรายได้ใบอนุญาตให้วิเคราะห์หุ้นทางด้านเทคนิคเท่านั้น แต่กลับไปวิเคราะห์ล้ำหน้าไปถึงข้อมูลพื้นฐานซึ่งนักวิเคราะห์รายนั้นไม่มีความเชี่ยวชาญและมีข้อมูลเพียงพอ ในทางกลับกันนักวิเคราะห์พื้นฐานก็ยังวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคด้วย  ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนเสียหายได้ เนื่องจากเป็นการวิเคราะห์ในสิ่งที่ตนไม่มีข้อมูลและเชี่ยวชาญพอ

    จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ"พบว่าเว็บไซต์ชื่อดัง WWW.PANTIP.COM ซึ่งมีห้องสำหรับใช้สนทนาและโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการลงทุน โดยผ่าน "ห้องสินธร"โดยมีข้อความที่เว็บไซต์ดังกล่าวสื่อสารถึงสมาชิกดังนี้

    " เรียนสมาชิก ทีมงาน PANTIP.COMได้รับการติดต่อจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(น่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต.) ความว่า  ขอให้แจ้งเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีซึ่งสมาชิกมีการโพสต์ข้อความ โดยให้คำแนะนำในคุณค่าของหลักทรัพย์หรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว อาจพิจารณาได้ว่าอาจเข้าข่ายประกอบธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ตามมาตรา 4 ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทเป็นที่ปรึกษาการลงทุน และการเผยแพร่ข่าวอันเป็นเท็จให้เลื่องลือจนอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้น หรือลดลง เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 240 ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 จึงขอให้ระมัดระวังในการให้ความเห็นและการใช้ข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ประกอบการพิจรณาการลงทุน เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน"


INFO: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,791 วันที่  11-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555