------------------------------------------ ------------------------------------------------------------ trader: ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ วิเคราะห์หุ้น รวย! จากบการเงิน

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ วิเคราะห์หุ้น รวย! จากบการเงิน

 
ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ วิเคราะห์หุ้น รวย! จากบการเงิน


ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ เซียนหุ้นวีไอ วัย 44 ปี เป็นที่ร่ำลือว่ามีความสามารถในการ "ถอดงบการเงิน" เป็นเลิศ เขามีข้อได้เปรียบตรงที่ว่าเคยผ่านงานธนาคารต้องวิเคราะห์สินเชื่อลูกค้าว่ามีกำลังผ่อนชำระคืนแบงก์ได้หรือไม่ เขานำประสบการณ์ตรงนั้นบวกกับความรู้ที่ร่ำเรียนมาวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า ความสามารถนี้เองที่ทำให้เขาสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นได้อย่างงดงาม

เขาเล่าว่า หลังจากค้นพบแนวทางของตัวเอง การเล่นหุ้นก็เริ่มได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ในอดีตเคยมีประสบการณ์ "ถือหุ้นตัวเดียว" นานถึง 8 ปี คือ หุ้นไว้ท์กรุ๊ป (WG) โดยใช้ซื้อภรรยา (มยุรี วงแก้วเจริญ) ซื้อตอนปี 2544 เหตุผลที่ชอบหุ้นตัวนี้ เพราะมีกระแสเงินสดดี ซื้อหุ้น WG มาในราคา 13-14 บาท ขายไปตอนราคา 60 บาท (ปัจจุบันราคา 81-82 บาท) เพื่อไปซื้อหุ้นตัวอื่นที่คิดว่าดีกว่า เฉพาะเงินปันผลอย่างเดียวก็ "คืนทุน" หมดแล้ว ปีแรกๆ ซื้อราคา 13 บาท ปันผล 1 บาท ซึ่งปันผลของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปี จนปีหลังๆ จ่ายปันผลสูงถึงหุ้นละ 4 บาท

นอกจากกระแสเงินสดดีแล้วหุ้นตัวนี้ผลประกอบการเติบโตสม่ำเสมอ เนื่องจากไว้ท์กรุ๊ปมีสูตรเคมีภัณฑ์เฉพาะเป็นของตัวเอง ลูกค้าอยากได้แบบไหนบริษัททำได้หมด ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันดีมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ที่สำคัญสมัยก่อนบริษัทนี้ ยังมีธุรกิจอื่นเสริมโดยเฉพาะธุรกิจโกดังให้ลูกค้าเช่าเป็นคลังสินค้า และมีสำนักงานให้เช่าแถวเอกมัย ทำให้เขามีกระแสเงินสด และมีมาร์จิ้นที่ดีขึ้น เพราะตึกมันลงทุนไปแล้วสามารถรับรู้รายได้ค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจทั้งหมดทำให้ไว้ท์กรุ๊ป มีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงที่เก็บหุ้น WG บริษัทนี้ยังไม่มีใครรู้จัก

ความแตกต่างจากเซียนหุ้นทั่วไป ฉัตรชัยจะทุ่มเงินลงทุนทั้งหมดในหุ้นที่เขามั่นใจเพียงไม่กี่ตัว เรียกว่า "จัดเต็ม" แบบไม่กลัวเสี่ยง..ถ้าเขามั่นใจ ปัจจุบันเขาถือหุ้นเพียงแค่ 2 ตัว โดยหุ้นตัวแรกถือ 90% ของพอร์ต อีกตัวถือ 10% ของพอร์ต

"ผมลงทุนไม่เหมือนคนอื่นเป็นคนซื้อหุ้นยากมาก ในรอบ 10 กว่าปีมานี้ถือหุ้นไม่กี่ตัว คนอื่นเขาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแต่ผมจะถือหุ้นไปจนกว่าจะถึงเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้ ในอดีตเคยถือหุ้นมากที่สุดแค่ 4 หุ้น ผมมันพวก “สเปกเยอะ” ถ้ามั่นใจตัวไหนผม “จัดเต็ม” อย่างตอนนี้มีหุ้นอยู่ในมือแค่ 2 ตัว ใครเป็นมาร์เก็ตติ้งผมไม่ค่อยได้ค่าคอมมิชชั่นเท่าไร"

แม้ฉัตรชัยจะไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อหุ้นที่ซื้อ แต่จากการตรวจสอบของกรุงเทพธุรกิจ BizWeek พบชื่อ มยุรี วงแก้วเจริญ ภรรยาของ ฉัตรชัย ถือหุ้น ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) 6,801,000 หุ้น สัดส่วน 2.52% และหุ้น แมนดารินโฮเต็ล (MANRIN) จำนวน 500,000 หุ้น สัดส่วน 1.86% ปัจจุบันมีมูลค่ารวมประมาณ 130 ล้านบาท

ทำไม! ถึงซื้อหุ้น 2 ตัวนี้ เซียนหุ้นร้อยล้าน บอกเพียงว่า ตัวที่โฟกัส 90% ของพอร์ตอยู่กลุ่ม Commerce บริษัทไม่มีคู่แข่ง ทำธุรกิจสบายๆ ผู้บริหารเก่ง (บุญยง ตันสกุล) ถือหุ้นตัวนี้มานาน 2-3 ปีแล้ว ตอนนี้เขาโตเร็วมาก และยังมีช่องจะเติบโตเพื่อกินมาร์เก็ตแชร์เจ้าอื่นด้วย สมัยก่อนบริษัทนี้เคยผิดพลาดทำให้เขาล้ม ตอนนี้กำลังจะกลับมาบุกตลาดอีกครั้ง จากการวิเคราะห์งบการเงินในช่วง 3 ปีข้างหน้า มั่นใจว่าบริษัทนี้จะขยายตัวสม่ำเสมอทุกปี

ส่วนหุ้นอีกตัวที่โฟกัส 10% อยู่ในกลุ่มโรงแรม ถือหุ้นมาแล้ว 2 ปี หุ้นตัวนี้ไม่ได้เข้าข่ายกลยุทธ์ไม่มีคู่แข่ง หรืองบการเงินดีเท่าไร จริงๆ ไม่ค่อยอยากจะพูดเท่าไร ตอนที่ซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะเห็นว่าบริษัทสามารถต่อสัญญาเช่าที่ดินแถวสามย่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแรมกับเจ้าของที่ดินได้ เห็นว่าทำเลค่อนข้างดีก็เลยซื้อหุ้นเก็บไว้ ช่วงนั้นคิดว่าจะถือไว้สัก 3 ปี น่าจะได้กำไร ปัจจุบันบริษัทนี้มีโรงแรมในกรุงเทพ 1 แห่ง และที่เขาใหญ่ 1 แห่ง

“ผมเชื่อว่าหุ้น 2 ตัวนี้ (SINGER, MANRIN) จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต แม้วันนี้หุ้นตัวหนึ่งจะปันผลน้อยเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ เขาต้องนำเงินไปลงทุนขยายกิจการหลังจากเพิ่งฟื้นตัว ส่วนอีกตัววันนี้ยังไม่มีเงินปันผล แต่ระยะยาวน่าจะดี..ผมอดทนรอได้”

เซียนหุ้นวีไอวัย 44 ปี กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตอนนี้ อยู่ตรงที่ส่วนใหญ่ “แพงมาก" แล้ว ซึ่งตนเองชอบซื้อหุ้นตอนราคาต่ำกว่าพื้นฐาน 50% ปัจจุบันหาได้ยาก หุ้นค้าปลีก หุ้นโรงพยาบาล ไม่สนใจแม้ธุรกิจจะดีแต่ราคาก็แพง ถ้าวันหนึ่งราคาลงมาอาจจะซื้อ การลงทุนแบบวีไอสำคัญที่ต้องประเมินมูลค่าหุ้นให้เป็น ก็เหมือนการซื้อรถยนต์ ถึงรถจะดีแต่ถ้าราคาแพงเกินไปก็ไม่ซื้อ "ของดี" อาจไม่ใช่ของที่ "ดีที่สุด" ก็ได้

ส่วนพวกหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ เขายอมรับว่า "ไม่ชำนาญ" วงจรธุรกิจสวิงมากเหมาะกับการ "เก็งกำไร" มากกว่าโอกาสพลาดมีสูง ส่วนหุ้น IPO ไม่ชอบเลย ฐานข้อมูลต่างๆ ยังน้อย ชอบหุ้นที่เห็นกันมานาน 5-10 ปีดีกว่า ปัจจุบันฉัตรชัย จะลงทุนผ่าน บล.เคที ซีมิโก้ และ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง เขาชอบแชร์ข้อมูลดีๆ ผ่านเว็บไซต์และชวนกันไปฟังข้อมูลจากผู้บริหาร

ถามว่าการลงทุนตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร..? เขากล่าวว่า บอกตรงๆ ไม่เคยคิดเลย ตอนเริ่มเล่นหุ้นครั้งแรกมีคนเคยบอกว่า คนเล่นหุ้น 10 คน เจ๊ง 8 คน เสมอ 1 คน ได้กำไร 1 คน ส่วนตัวขอเป็น 2 ใน 10 คนที่ไม่เจ๊งก็พอ ทุกวันนี้ยึดอาชีพนักลงทุนอย่างเดียว ภรรยาเป็นแม่บ้าน มีลูกสาว 2 คน หลายคนอยากออกมาทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง การลงทุนในหุ้นก็เป็นเจ้าของกิจการได้เหมือนกัน แถมมีข้อดีมากกว่าด้วยเพราะถ้ากิจการไม่ดีเราสามารถขายหุ้นไปลงทุนกิจการใหม่ได้

ฉัตรชัย บอกว่า รู้สึกตะขิดตะขวงใจทุกครั้งเวลาฟังรายการวิทยุมีนักลงทุนโทรไปถามนักวิเคราะห์ว่าติดหุ้นตัวนี้ควรซื้อหรือขายดี นักวิเคราะห์ก็จะถามกลับว่าต้นทุนเท่าไร อยากถามว่าต้นทุนมันเกี่ยวอะไรกัน เราซื้อหุ้นต้องดูที่อนาคตไม่ใช่ต้นทุน สมมติติดหุ้นราคา 20 บาท ราคาตลาด 15 บาท แต่หุ้นมีโอกาสวิ่งไป 30 บาท ฉะนั้นคำแนะนำแบบนั้นมันใช้ได้มั้ย!

เขาบอกว่า เท่าที่สัมผัสนักลงทุนส่วนมากชอบ "สูตรสำเร็จ" การลงทุนไม่มีสูตรสำเร็จ และสูตรสำเร็จของแต่ละคนและแต่ละสถานการณ์ก็ไม่เหมือนกัน อยากจะเล่าให้ฟังสมัยก่อนตอนเกิดวิกฤติแบล็คมันเดย์ คนที่ทน "ถือหุ้น" หรือ "ซื้อเพิ่ม" เขาได้กำไรกันถ้วนหน้า เพราะหุ้นตกไม่นานก็ขึ้น พอมาวิกฤติปี 2540 คนก็ยังคิดว่าตลาดหุ้นจะเป็นแบบนั้นอีก ก็พากันแห่ไปไล่ซื้อ สุดท้ายหุ้นตกจาก 1,700 จุด ตกเหลือ 200 จุด

"สุดท้ายเจ๊งกันหมด บางบริษัทปิดตัวไปเลย ฉะนั้นคุณต้องรู้จักประเมินมูลค่าธุรกิจ และวิเคราะห์สถานการณ์ให้ออก การลงทุนมันไม่สูตรสำเร็จว่าถ้าเกิดวิกฤตแล้วต้องซื้อหุ้นเท่านั้น ขายเท่านี้..มันไม่มี"

เซียนหุ้นวีไอร้อยล้าน กล่าวปิดท้ายว่า กลยุทธ์การลงทุนที่เน้นให้ซื้อหุ้นตอนวิกฤติ เพราะจะได้ของถูก คนพูดแบบนี้แปลว่าประสบการณ์เขายังน้อยคงยังไม่เคยโดนวิกฤติตอนปี 2540 (หัวเราะ) ถ้าผ่านมาแล้วจะไม่พูดแบบนี้ ส่วนตัวไม่เคยขายหุ้นตอนวิกฤติ หากมั่นใจหุ้นตัวนั้นพื้นฐานดีจริงๆ วันหนึ่งมันต้องกลับมา

'กำไรสุทธิ' สำคัญน้อยกว่า 'กระแสเงินสด'ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ เซียนหุ้นวีไอ "ร้อยล้าน" จะให้น้ำหนักการวิเคราะห์ลักษณะกิจการที่น่าลงทุนโดยพิจารณา 3 ส่วนหลักๆ คือ หนึ่ง..กระแสเงินสดของกิจการ บริษัทที่ดีต้องมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปกติเติบโตสม่ำเสมอ ไม่ใช่กระแสเงินสดจากรายการพิเศษที่รับครั้งเดียว สอง..อัตราการจ่ายเงินปันผล ต้องสมเหตุสมผล สาม..คุณภาพสินทรัพย์ "ต้องดี" ส่วนพวกค่า P/E ยิ่งต่ำๆ ยิ่งดี แต่ไม่ได้ยึดติดเท่าไร ส่วนค่า P/BV ไม่ได้ดูเลย

สำหรับวิธีการดูงบการเงินอย่างย่อ ขั้นตอนแรก..เราจะต้องอ่าน "งบดุล" ของบริษัทนั้นก่อน ในงบดุลจะแสดง "สินทรัพย์" และ "หนี้สิน" สิ่งที่จะต้องไล่ดูคือ บริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร สินทรัพย์สำคัญของบริษัทนั้นคืออะไรและมันสอดคล้องกับการทำธุรกิจนั้นหรือไม่ ยกตัวอย่าง บางบริษัทมีเงินลงทุนในพอร์ตหุ้นจำนวนมากถ้าเป็นแบบนั้นคงไม่ใช่หุ้นที่ดี เราต้องมองโครงสร้างธุรกิจให้ขาด

จากนั้นก็ดู "คุณภาพสินทรัพย์แต่ละรายการ" ว่ามีมูลค่าตามที่บันทึกในบัญชีหรือไม่ เพราะบางครั้งมีการแต่งตัวเลขได้ ให้ดูลูกหนี้การค้า "ผิดนัดชำระ" เยอะมั้ย! แล้วมีการ "ตั้งสำรอง" เพียงพอหรือไม่ จากนั้นก็มาดูว่าบริษัทดังกล่าวมีหนี้สินเทียบกับทุนจดทะเบียนเยอะขนาดไหน เมื่อตรวจสอบครบแล้วเราก็เอางบดุล 3 ปี มาเปรียบเทียบกันจะทำให้เรารู้ว่าที่ผ่านมางบการเงินของเขาเป็นอย่างไร

ขั้นตอนต่อไปให้ดู “งบกำไรขาดทุน” ให้เน้นที่ “กำไรขั้นต้น” บริษัทที่ดีควรมีกำไรขั้นต้นอยู่ในระดับสูงทั้งในปัจจุบัน และอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า จากนั้นจะดูว่าบริษัทมี "อัตรากำไรสุทธิ" เท่าไร ถ้าตัวเลขอยู่สูงๆ จะดีมาก เพราะจะบ่งบอกได้ว่า บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างดี ไม่ใช่มาร์จิ้นบางเฉียบแค่ 1% หรือครึ่งเปอร์เซ็นต์ แบบนี้ไม่เอาปล่อยผ่านไป

"ผมชอบบริษัทที่มีกำไรขั้นต้นประมาณ 20% มีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ที่สำคัญบริษัทนั้นต้องมีต้นทุนขายลดลงหรือเสมอตัว ไม่เพิ่มเติมไปกว่าเดิม หากจะมีต้องมีเหตุผลที่สนับสนุนและต้องไม่ผันผวน"

ฉัตรชัย บอกว่า ส่วนตัวไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ "กำไรสุทธิ" มากเท่าไร เคยมีคำพูดประโยคหนึ่ง “Profit is opinion cash is real” กำไรเป็นเพียงความคิดเห็น กระแสเงินสดคือของจริง เพราะในงบกำไรขาดทุนบางอย่างมันขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ทางบัญชี โดยเฉพาะการกำหนดระยะเวลาการตัดค่าเสื่อมราคา ซึ่งมันสามารถทำให้ตัวเลขกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ทั้งๆ ที่เราค้าขายเหมือนเดิม

เขาเล่าต่อว่า ขั้นตอนสุดท้าย จะดู “งบกระแสเงินสด” เพราะมันจะบ่งบอกถึง "วงจรธุรกิจ" บางบริษัทมีกำไรดีแต่ไม่มีเงินให้ผู้ถือหุ้นเลย ได้เงินมาเท่าไรต้องนำไปซื้อเครื่องจักรรุ่นใหม่ หรือลงทุนตลอดเวลา บริษัทที่ดีต้องมีกระแสเงินสดเติบโตทุกปีเฉลี่ย 10-15% กระแสเงินสดจะบอกอะไรได้เยอะมาก เพราะจะทำให้เรารู้ว่าเงินเข้ามาจากการขายของ หรือไปกู้แบงก์หรือได้มากจากรายการพิเศษ

งบกระแสเงินสด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. จากการดำเนินงาน เงินรับเข้าและจ่ายออก 2. การลงทุน เช่น ซื้อเครื่องจักร ขายที่ดิน ขายเครื่องจักร ฯลฯ 3. กิจกรรมการจัดหาเงิน เช่น เพิ่มทุน กู้ยืมเงิน จ่ายเงินกู้ ซึ่งเงินสดจากการดำเนินงานสำคัญที่สุด เพราะมันจะบ่งบอกว่าบริษัทดำเนินธุรกิจแล้วมีเงินสดเหลือหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนไม่ควรลืมดู นั่นคือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน เพราะจะบ่งบอกว่าวิธีการตั้งบัญชีมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง การรับรู้รายได้ขั้นตอนไหนถึงเรียกว่าเป็นรายได้ บางบริษัทบอกว่า “ฉันจะมีรายได้ตั้งแต่เอาหนังสือไปตั้งขาย แต่บางบริษัทบอกไม่ใช่ฉันจะมีรายได้เมื่อขายหนังสือได้แล้ว”

เขาระบายความในใจสั้นๆ ว่า นักลงทุนสมัยนี้เข้ามาลงทุนแล้วอยาก “รวยเร็ว” อยากได้สูตรสำเร็จให้คนเก่งช่วยกรองให้ว่า หุ้นที่ดีต้องมีค่า P/E เท่าไร ผลตอบแทนต้องเท่าไร ถ้าบริษัทไหนเข้าหลักเกณฑ์ฉันจะซื้อเลย ในความเป็นจริง “มันไม่ใช่” ถามว่าคุณเข้าใจหรือไม่ว่า การคำนวณราคาหุ้นด้วยค่า P/E คืออะไร..ผมเชื่อเลย “ไม่เข้าใจ”

สมมติหุ้นตัวนี้มีค่า P/E 10 เท่า หมายความว่า กำไร 1 บาท ราคาหุ้น 10 บาท นั่นแปลว่า ซื้อหุ้นแล้วอีก 10 ปีคืนทุน ตกกำไรปีละ 1 บาท แต่บางธุรกิจกำไรมันผันผวนจะให้มีกำไร 1 บาททุกปี มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นการใช้ค่า P/E คำนวณราคาหุ้นต้องใช้กับบริษัทที่เติบโตสม่ำเสมอ จริงอยู่การเล่นหุ้นด้วยการดูค่า P/E มันใช้ง่าย เพราะมันโชว์อยู่ในหนังสือพิมพ์ทุกวัน แต่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จ ไม่อย่างนั้นนักลงทุนคงกำไรกันทั้งโลก

"ผมอยากให้นักลงทุนต้องศึกษารายละเอียดให้ลึก บางคนถามว่าบริษัทที่ดีควรมีอัตราหนิ้สินต่อทุนเท่าไร มันก็ไม่มีสูตรเหมือนกันขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร แต่ถ้าเป็นบริษัททำธุรกิจปกติทั่วไปหนี้สินต่อทุนควรอยู่ระดับ 2 ต่อ 1 ไม่ควรมากกว่านี้"


INFO: กรุงเทพธุรกิจ