------------------------------------------ ------------------------------------------------------------ trader: กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 3.00% เหลือ 2.75%

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 3.00% เหลือ 2.75%

 กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 3.00% เหลือ 2.75%

กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 3.00% เหลือ 2.75%  โดยใช้เหตุผลว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอและมีความเสี่ยงสูง นโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและรักษาแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศที่อาจจะอ่อนแรงลงในระยะต่อไป

เราประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยของธปท.ในครั้งนี้มีผลบวกเพียงระยะสั้นต่อจิตวิทยาของนักลงทุน เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ถือว่าเป็นเพียงการส่งสัญญาณว่าธปท.มีความพร้อมในการออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหากมีความจำเป็น  ส่วนผลกระทบที่แท้จริงต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นมีจำกัด เนื่องจาก เราคาดว่า ธปท.ไม่น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในช่วงที่เหลือของปี 2555 แต่มีโอกาสในปี 2556 ซึ่งขึ้นกับระดับความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและไทย สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรอบล่าสุดของ ธปท.เกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.54 และ ม.ค.55 โดยได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% จาก 3.50% เป็น 3.00%  แต่ในขณะนั้นระดับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีความชัดเจนมาก เนื่องจาก ประสบปัญหาน้ำท่วม รวมถึงเป็นช่วงที่วิกฤติการเงินในยุโรปอยู่ในระดับที่รุนแรงกว่าปัจจุบันมาก

การลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ รวมถึงไม่สอดคล้องกับความเห็นล่าสุดของผู้ว่าธปท. อย่างไรก็ตาม การที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่รวมถึงเราได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าแล้วว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสที่จะลดลงได้ในอนาคตอันใกล้ประมาณ 0.25-0.50%  ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ครั้งนี้จึงถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดไปจากการคาดการณ์มากนัก

เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะไม่ลดลงตาม หากพิจารณาจากการลดอัตรานโยบายในรอบที่ผ่านมา 0.50% แต่ MLR ลดเพียง 0.125% เท่านั้น  รวมถึง ความต้องการสินเชื่อภายในประเทศที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ถือว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภค ดังนั้น เราจึงคาดว่าผลกระทบต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้จึงจะไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก  อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะส่งต่ออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งมักจะถูกใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการส่วนใหญแต่เราคาดว่าสัดส่วนของเงินทุนดังกล่าวจะมีไม่มาก

เราคาดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับไปอ่อนค่า เนื่องจากการ การแข็งค่าของค่าเงินบาทในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินของไทย เนื่องจากสภาพคล่องทางการเงินของตลาดการเงินโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการผ่อนคลายของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทั้งนี้ จากสถิติของค่าเงินบาทตั้งแต่เกิดการเงินสหรัฐฯในปี 2007 พบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2006 มาอยู่ในระดับ 30.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปัจจุบัน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวลดลงจาก 5% มาอยู่ที่ระดับ 2.75% ในปัจจุบัน สำหรับปี 2555 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น 2.7%YTD เทียบกับ เงินเปโซแข็งค่า 6.15%YTD  เงินริงกิตแข็งค่า 4.67%YTD มีเพียงเงินรูเปี๊ยะของอินโดนีเซียที่อ่อนค่า 5.17%YTD  ดังนั้น ระดับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปี 2555 จึงยังไม่ได้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น เราไม่คิดว่าหุ้นกลุ่มส่งออกจะได้รับประโยชน์

สำหรับผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยต่อตลาดหุ้นนั้น สามารถตีความได้ทั้งในแง่บวกและลบ ขึ้นกับเหตุผลของการลดอัตราดอกเบี้ย โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้เป็นเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจจะแย่ลงในอนาคต ซึ่งในความเป็นจริงถือว่าเป็นสัญญาณในเชิงลบ ทำให้เราประเมินว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยวานนี้จะส่งผลบวกต่อตลาดฯเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยทฤษฏีการลงทุนแล้วนั้น อัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นนั้นต้องเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยลดลงต่ำสุดและคงที่ เราคิดว่านโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพในอีก 1-2 ปีข้างหน้า  คือ นโยบายด้านการคลัง ผ่านการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตาม ทำให้เราแนะนำ ซื้อ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายภาครัฐบาล และโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์  


INFO: http://kelive.maybank-ke.co.th