------------------------------------------ ------------------------------------------------------------ trader: กสทช. โต้ คลัง ประมูล 3G ใช้ พ.ร.บ.คลื่นความถี่ ไม่ใช่อี-อ็อคชั่น

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กสทช. โต้ คลัง ประมูล 3G ใช้ พ.ร.บ.คลื่นความถี่ ไม่ใช่อี-อ็อคชั่น





            3G วุ่นอีกรอบ คลังส่งหนังสือแจ้ง กสทช. ชี้ ประมูล 3G ผิดระเบียบอี-อ็อคชั่น เพราะไม่มีการแข่งราคา แถมเข้าข่ายฮั้วประมูล ด้าน กสทช. โต้กลับ ประมูล 3G อิงตาม พ.ร.บ.คลื่นความถี่ ไม่ใช่ อี-อ็อคชั่น

            เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้าง (คกพ.) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือ "ด่วนที่สุด" ลงวันที่ 18 ตุลาคม ส่งไปยัง พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อแจ้งให้ทราบว่า การประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ขัดต่อระเบียบการประมูลว่าด้วยวิธีการทางอิเล็คทรอนิกส์ หรือ อี-อ็อคชั่น (e-Auction)

            ทั้งนี้ นางสาวสุภา อธิบายว่า ระเบียบการประมูล อี-อ็อคชั่น ระบุชัดว่า การประมูลสิ่งใดต้องมีการแข่งขันราคา แต่ในการประมูล 3G ที่เกิดขึ้น กลับพบว่า กสทช. กำหนดคลื่นความถี่ประมูลไว้ 9 สล็อต สล็อตละ 5 MHz และกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าประมูลสามารถประมูลได้ไม่เกิน 15 MHz หรือ 3 สล็อต ดังนั้น เมื่อมีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย ทำให้ไม่มีการเคาะราคาแข่งขัน เพราะผู้เข้าประมูลมีจำนวนเท่ากับจำนวนสิ่งของที่จะประมูล อีกทั้งการกำหนดราคาเริ่มต้นไว้ที่ 4,500 ล้านบาท ทั้งที่ราคาประเมินคือ 6,440 ล้านบาท ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย เพราะผู้ชนะการประมูลจะได้รับประโยชน์จากการให้บริการต่อเนื่องเป็นเวลานาน

            ประธาน กคพ. ระบุอีกว่า การจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ไม่เหมาะสม โดยอาจมีลักษณะการสมยอมราคา ก็ยังเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ทำให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล ซึ่งคณะกรรมการ กสทช. อาจเข้าข่ายต้องรับผิดตามกฎหมายด้วย

            ในเวลาต่อมา นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ออกมาชี้แจงเรื่องที่กระทรวงการคลังส่งหนังสือแจ้งมา ว่า การประมูลครั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 ซึ่งมาตรา 45 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การประมูลนี้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและเงื่อนไข ฉะนั้น กทค.ได้ตรวจสอบข้อกฎหมายชัดเจนแล้วว่า การประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมครั้งแรกของประเทศไทยนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกฯ ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องของอี-อ็อคชั่น ดังที่กระทรวงการคลังระบุ

            ส่วนกรณีที่มีความเข้าใจสับสนเรื่องตัวเลขประมูลคลื่นตามที่จุฬาฯ เสนอมาที่ 6,440 ล้านบาท ต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์นั้น นายสุทธิพล ระบุว่า นี่ไม่ใช่ตัวเลขตั้งต้นที่ทางจุฬาฯ เสนอมา แต่เป็นตัวเลขมูลค่าคลื่นที่จุฬาฯ นำมาประเมินก่อนที่จะคำนวณไปสู่ราคาตั้งต้น ซึ่ง จุฬาฯ คิดราคาขั้นต้นที่ 67% หรือ 4,300 ล้านบาท แต่ กทค. ปรับขึ้นเป็น 70% คิดเป็น 4,500 ล้านบาท ถือว่า สูงกว่าราคาที่จุฬาฯ เสนอมา และเมื่อเทียบกับหลายประเทศจะพบว่า ไทยสูงกว่าต่างประเทศ 3-4 เท่า 

            "ราคาประมูลตั้งต้น 4,500 ล้านบาท ต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ ยังมีเอกชนเพียงแค่ 3 ราย เข้ามา ถ้าราคาสูงขึ้นมาอีก ก็จะมีเอกชนน้อยรายเข้ามา และก็จะเป็นปัญหาก็จะผิด พ.ร.บ.ฮั้ว และการประมูลจะไม่ราบรื่น ไม่สามารถเกิดประมูลได้ นี่คือสิ่งที่เรากังวล" นายสุทธิพล กล่าว

            ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า วิธีการประมูลดังกล่าวกำหนดกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการเป็นพิเศษโดยเฉพาะ ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกัน

            ทั้งนี้ กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลคลื่นความถี่กระทำภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 และพระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 45 ซึ่งไม่ได้มีจุดประสงค์ เพื่อหารายได้เข้ารัฐเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับจากการใช้คลื่นความถี่เป็นหลักควบคู่กับประโยชน์ที่รัฐจะได้รับในจุดที่มีความสมดุล

 3 ค่ายเข้ารับหนังสือรับรอง พร้อมชำระเงินงวดแรก

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงสายวันนี้ (19 ตุลาคม) 3 บริษัทที่ประมูลใบอนุญาต 3G ได้ ประกอบด้วย บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด จากเอไอเอส บริษัทเรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ของ ทรู และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ได้เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เพื่อรับหนังสือรับรองผลการประมูลคลื่น พร้อมกับชำระค่าประมูลคลื่นงวดแรกเป็นเงิน 50% ของจำนวนเงินที่ประมูลได้

          ทั้งนี้ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส ซึ่งเสนอราคาสูงสุดต้องจ่ายค่าประมูลคลื่นงวดแรกเป็นเงิน 7,824.375 ล้านบาท ขณะที่อีก 2 บริษัท ต้องชำระเงินงวดแรก 6,750 ล้านบาท

INFO: http://fb.kapook.com/hilight-77472.html