------------------------------------------ ------------------------------------------------------------ trader: ถอดรหัสตลาดหุ้น #14 กลโกงปั่นหุ้น

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ถอดรหัสตลาดหุ้น #14 กลโกงปั่นหุ้น


ถ้าไม่พูดถึงการปั่นหุ้นเลย ก็จะดูไม่สมบูรณ์ใช่ไหมครับ เพราะมันมีอยู่จริงในตลาดหุ้น

แต่ที่เอามาเล่าในที่นี้ ไม่ใช่สนับสนุนการปั่นหุ้นนะครับ เพราะการปั่นหุ้นผิดศีล ผิดกฎหมาย ผิดจรรยาบรรณ ฯลฯ

บาปกรรมอีกต่างหากที่ร่ำรวยบนความเสียหายของผู้อื่น ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอกครับ เราๆท่านๆ ที่เป็นนักลงทุนรายย่อย หรือ ที่กลุ่มปั่นหุ้นเรียกเหยื่อของเขาว่า”แมงเม่า” นั่นแหละ

บทนี้จึงเป็นเหมือนเปิดโปงพวกปั่นหุ้นให้พวกเราได้ ”รู้ทันเกม” มากกว่า จะได้ไม่หลงตกไปเป็นเหยื่อของพวกขอทานใส่สูท

จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นหุ้นใหญ่หรือหุ้นเล็ก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นฝรั่งหรือหุ้นไทย มันก็ต้องไล่ราคาทั้งนั้นแหละ ไม่งั้นมันก็ไม่ขึ้นหรอก

แต่ในที่นี้เราจะมุ่งเน้นไปที่หุ้นปั่นก็แล้วกันครับ เพราะหุ้นพวกนี้เป็นอันตรายมากกว่า ไม่มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน เราจึงต้องรู้เท่าทันเป็นพิเศษ

เดี๋ยวเราตามไปดูพร้อมๆกันดีกว่า ว่าการปั่นหุ้นเขามีกระบวนการอย่างไร เพื่อจะได้ไม่ต้องกลายเป็น แมงเม่าบินเข้ากองไฟ ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพในตลาดหุ้น

ก่อนกระบวนการไล่ราคาเกิดขึ้น กลุ่มปั่นหุ้นก็จะต้องทำการเลือกหุ้นก่อนครับ

ครั้นจะเลือกหุ้นที่มีกองทุนถืออยู่ก็คงไม่ดีแน่ เพราะไล่ๆราคาอยู่กองทุนอาจขายไม้ใหญ่ใส่มาก็ได้ ถ้าราคามันปรับตัวสูงไปกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก ข้อสำคัญอีกอย่าง คือ ต้องพูดคุยเจรจากับเจ้าของกิจการก่อน ไม่งั้นเดี๋ยวเจอดี เพราะเจ้าของกิจการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีหุ้นให้ขนออกมาขายได้ไม่อั้น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักจะเห็นความโยงใยของรายใหญ่ในกลุ่มหุ้นที่ร่วมขบวนการอยู่เสมอ หุ้นในกลุ่มเดียวกันเราก็จะเห็นชื่อกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเวลาไล่เลี่ยกัน แล้วจากไปพร้อมๆกันในเวลาไม่นานนัก แล้วกลุ่มนี้ก็จะเข้าไปสิงสถิตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอื่นต่อๆไป หรือไม่ก็ส่งคนของแต่ละบริษัทมาถือหุ้นไขว้ไปมาระหว่างบริษัทในกลุ่มก๊วนของตน

โดยมากกลุ่มทำราคาก็มักจะเลือกบริษัทที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี เพื่อจะได้ไม่ต้องไปชนกับกองทุนครับ รวมทั้งบริษัทนั้นต้องมีจำนวนหุ้นหมุนเวียนน้อย หรือที่เขาเรียกกันว่ามี Free Float ต่ำด้วย เพื่อที่จะสามารถควบคุมหุ้นได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และยิ่งราคาหุ้นต่ำก็จะยิ่งดี เพราะจะได้รู้สึกว่าถูกในทางจิตวิทยา ล่อคนมาติดกับดักได้ง่าย และยังทำกำไรได้สูงซะด้วย

เช่น เงิน 10 ล้านบาท ซื้อหุ้นราคา 1 บาท ได้ 10 ล้านหุ้น เมื่อหุ้นขึ้นไปเพียง 1.50 บาท ก็สามารถทำเงินได้แล้วถึง 5 ล้านบาท ซึ่งหากนำเงิน 10 ล้านบาทนี้ ไปซื้อหุ้นบลูชิพราคา 100 บาท จะซื้อได้เพียง 1 แสนหุ้น และหุ้นต้องขึ้นไปถึง 150 บาท จึงจะได้กำไร 5 ล้านบาท

เมื่อได้หุ้นเป้าหมายแล้ว ก็ต้องหาบัญชีตัวแทนล่ะครับ เพื่อนพ้องน้องพี่ ลุงป้าน้าอา คนขับรถ คนสวน ที่เปิดบัญชีรอไว้หลากหลายโบรกเกอร์ จะถูกใช้ชื่อเป็นตัวแทนในการซื้อ ขาย รับโอนหุ้น ระหว่างกัน ยิ่งเดี๋ยวนี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นเพื่อให้ยากในการตรวจสอบ กระจายไปมากกว่า 20 บัญชี ยังมีให้เห็นอยู่บ่อยเลยครับ

เมื่อทุกอย่างพร้อม คราวนี้ก็เริ่มทำการ เก็บ-กด หุ้นสิครับ

การ เก็บ-กด หุ้น เป็นจิตวิทยารายใหญ่รังแกรายย่อย โดยใช้วิธีการวาง offer หนาๆ ไม่ให้ใครกล้าเคาะซื้อขึ้นไป และกดดันให้คนที่มีหุ้นอยู่ รู้สึกว่า ราคาคงจะขึ้นต่อไม่ไหวแล้ว ขายหุ้นลงมาที่ฝั่ง bid ซึ่งกลุ่มทำราคาตั้งราคารอซื้ออยู่ วิธีนี้พบเห็นกันโดยทั่วไปครับ

แต่สำหรับหุ้นในกลุ่ม เดอะซัน หรือ หุ้นในกลุ่ม เสี่ยลี หรือ หุ้นในกลุ่ม เสี่ยบี แล้ว โหดกว่านั้น ใช้วิธีการกดหุ้นด้วยวิธีซาดิสต์ หรือที่ในวงการชอบเรียกว่า “ทุบให้อ้วก” โดยให้พรรคพวกตั้ง bid ไว้ที่โบรกเกอร์หนึ่ง แล้วสั่งอีกโบรกเกอร์หนึ่งให้ขายโครมลงมาไม้ใหญ่ๆ เขย่าขวัญพวกเรา บล็อกราคา ดองราคาไม่ให้ไปไหน มีกด มีทุบ สักระยะหนึ่ง เดี๋ยวรายย่อยก็จะขายทิ้งลงมาให้เองครับ

ช่วงหลังนี้ เขาพัฒนาไปถึงขั้นใช้กราฟเทคนิคเข้าช่วย ทำเหมือนๆจะไป ไล่ซื้อหุ้นให้ราคาวิ่งขึ้นไปถึงแนวต้าน ซื้อรวดเดียวแบบกวาดมาจนเกลี้ยง แล้วทิ้งโครมลงมาในลักษณะ “ทุบให้อ้วก” จนเกิด Sell signal เพื่อสั่งลา ว่าหุ้นตัวนี้ไปไม่รอดแล้ว จากนั้นก็ปล่อยให้มวลชนทั้งหลายที่หลงซื้อหุ้นนั้นเข้าไป เซ็งกันไปเอง ขายขาดทุนบ้าง ขายเท่าทุนบ้าง ส่วนกลุ่มทำราคาก็ย้ายไปเล่นตัวอื่นพลางๆก่อน เพื่อให้มวลชนที่ถือหุ้นนี้อยู่ เกิดอาการสิ้นหวังกันถ้วนหน้า

กระบวนการ เก็บ-กด และ ทุบให้อ้วก นี้ อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ หรือ เป็นเดือนเลยล่ะครับ เพื่อเรียกของคืนมาจนกว่าจะครบตามที่ต้องการ

ในช่วงของการกด-เก็บหุ้น ปริมาณการซื้อขายจะมากขึ้นผิดสังเกตครับ มีซื้อๆขายๆ แต่ราคาไม่ขยับ หรือ ขยับก็ขยับไม่มาก หรือ บางครั้งขยับลงอีกต่างหาก เพื่อกดดันให้ผู้มีหุ้นอยู่รู้สึกว่า แรงขายมีเยอะจัง ราคาไม่ไปไหนเลย แล้วขายหุ้นทิ้งลงมา

เมื่อได้หุ้นครบแล้ว เขาจะนั่งรอเวลาระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้ผิดสังเกตครับ แล้วจึงค่อยไล่ราคาขึ้นไปอย่างรวดเร็ว

ในระหว่างที่ไล่ราคาขึ้น ก็จะมีการเชิญนักวิเคราะห์ไปเยี่ยมชมกิจการ หรือ ออกข่าวดี เรื่องรายได้ พันธมิตร หรือ อาจจะเลยเถิดไปถึงขนาดปล่อยข่าวลือต่างๆนานาไปเลยด้วยซ้ำ เพื่อให้มวลชนเชื่อว่าหุ้นกำลังจะมีแนวโน้มที่ดี

แล้วจะทำยังไงล่ะครับ เพื่อจะเพิ่มน้ำหนักให้กับข่าวดีนั้น ก็ต้องไล่ราคาโชว์ซิครับ ด้วยการเคาะซื้อครั้งละมากๆ รวบทีละ 2-3 แถว แบบเว่อร์ๆหน่อย ก็กินรวบไม่แบ่งใครเลย 5-6 แถวก็มี

คราวนี้ความมั่นใจก็มา การแย่งกันซื้อแบบไม่เกี่ยงราคาก็เกิดขึ้น

ถ้าหุ้นนั้นพื้นฐานแย่หน่อย หรือ กลุ่มทำราคากลุ่มเล็ก เกมส์ก็มักจะจบไวครับ แต่บางกรณีที่กลุ่มทำราคาเป็นกลุ่มใหญ่ การลากราคานั้นอาจจะยาวนาน เพื่อให้ราคาขึ้นไปสุดโต่งเท่าที่จะเป็นไปได้

กลวิธีระหว่างไล่ราคานี้ ก็น่าเกลียดพอประมาณครับ ตั้งขายไว้ที่โบรกเกอร์หนึ่ง แล้วก็สั่งอีกโบรกเกอร์หนึ่งให้เคาะซื้อเอง เมื่อซื้อได้แล้วก็จะสั่งโบรกเกอร์ให้ตั้งขายในราคาที่สูงขึ้น แล้วก็สั่งอีกโบรกเกอร์หนึ่งให้เคาะซื้อตาม

ตลาดหลักทรัพย์ตรวจได้ไม่ยากครับ ถ้าอยากจะตรวจจริงจัง ใครที่ซื้อแพงแล้วขายถูก แล้วก็ไปไล่ซื้อที่แพงกว่า แล้วก็ขายถูกอีกครั้งแล้วครั้งเล่า และซื้อขายทีไม้ใหญ่ๆ ก็นั่นแหละ แก๊งค์ปั่นหุ้น

เมื่อหุ้นขึ้นมาใกล้ราคาเป้าหมายแล้ว ไม่รู้เป็นไง สื่อและหนังสือพิมพ์ มักจะออกมาเชียร์เรื่อย ช่วงนี้แหละครับที่รายใหญ่จะเริ่มทยอยขายหุ้น

แต่เนื่องจากหุ้นมันมีเยอะนะครับ ขายลำบาก ก็ต้องเรียกแขกเข้ามาร่วมแจม

วิธีเรียกแขก ก็จะใช้วิธีเดิมครับ เคาะซื้อของตัวเองที่ตั้งขายไว้ที่อีกโบรกเกอร์หนึ่งอย่างรวดเร็วและรุนแรง หลายๆระดับราคา มีโชว์เคาะซื้อเคาะขายสลับไปมา ครั้งละหลายแสนหลายล้านหุ้น เพื่อให้ดูคึกคักเป็นที่สนใจของมวลชน

เมื่อมวลชนเห็นว่าหุ้นตัวนี้ วิ่งดี น่าจะทำกำไรได้งาม ก็จะแห่เข้ามาเคาะซื้อสนุกสนานพร้อมความหวังรวยเร็ว

ตรงนี้แหละครับที่รายใหญ่จะเริ่มตั้งขายที่ฝั่ง offer ในแต่ละช่วงราคา พร้อมๆกับตั้ง bid หนาๆ เพื่อจูงใจให้รายย่อยเคาะซื้อเนื่องจากเห็นว่า ขืนตั้งรอซื้อจะไม่ได้ของ

ระหว่างนี้อาจมีเคาะซื้อนำไม้เล็กๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อจูงใจให้รายย่อยแห่เคาะซื้อตาม เมื่อหุ้นที่ตั้งขายใกล้หมด รายใหญ่จะขนหุ้นมาเติมขาย และอาจมีเคาะซื้อหุ้นที่ตัวเองวางขายไว้ที่โบรกเกอร์อื่นสลับเป็นระยะด้วยครับ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าหุ้นนั้นยังมีแรงซื้อมากอยู่

แต่พอซื้อเสร็จ ก็ขนหุ้นที่เพิ่งซื้อนะแหละ มาวางขายอีกที่ฝั่ง offer อีก หลังจากนั้นไม่นาน หุ้นก็จะถูกเปลี่ยนมือไปอย่างเงียบๆ มวลชนก็จะเริ่มครอบครองหุ้นเกือบทั้งหมดของรายใหญ่ในเวลาต่อมา

ส่วนรายย่อยที่ยังไม่เคาะซื้อก็จะตั้ง bid รอ ใช่ไหมครับ พอรายย่อย bid รอ รายใหญ่ก็จะค่อยๆถอน bid ออก แล้วตั้งซื้อใหม่เพื่อดันให้รายย่อยได้คิวซื้อก่อน

เมื่อ bid ที่เหลืออยู่ มีแต่คำสั่งซื้อของรายย่อยที่หนาแน่นพอแล้ว รายใหญ่ก็จะเทขายลงมา และขายต่อเนื่องลงมาเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดพอร์ต

ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าบทนี้เป็นการเปิดโปงเพื่อให้รู้ทันเกมปั่นหุ้น ไม่ได้สนับสนุนการผิดศีลทำบาป ไม่ได้สนับสนุนการลักทรัพย์ ไม่ได้สนับสนุนการมุสาฯ แต่ประการใด แต่ต้องการสื่อให้เห็นไม่เผลอไปเล่นในเกมของเขา เพื่อเราจะได้ไม่หลงทางไปเป็นเหยื่อ

มาถึงตรงนี้ ก็อดที่จะพูดถึง การไล่ราคาวอแร้นท์และการซ่อนออร์เดอร์ไม่ได้

เริ่มจากการไล่ราคาวอแร้นท์ก่อนแล้วกันครับ

หุ้นเก็งกำไรหลายๆตัว ก็มีวอแร้นท์ และหลายๆครั้งที่คนทำราคาจะเอาหุ้นตัวแม่และวอแร้นท์ขึ้นมาอย่างช้าๆ โดยไม่ให้ใครได้ทันสังเกตเห็น

เมื่อสะสมหุ้นและวอแร้นท์ได้มากพอ ก็จะลากวอแร้นท์ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เพราะราคาถูกกว่า ใช้เงินน้อยกว่า

เมื่อลากวอแร้นท์ขึ้นไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะลากหุ้นแม่ขึ้นไป พร้อมๆกับวางขายวอแร้นท์ เพราะนักเก็งกำไรส่วนใหญ่ เมื่อเห็นหุ้นแม่ขึ้น ก็เชื่อว่าวอแร้นท์จะขึ้นตาม แต่หารู้ไม่ว่าเขาวางขายวอแร้นท์กันแล้ว

ตบท้ายแล้วนะ จะเปิดโปงเรื่องการซ่อนออร์เดอร์หน่อย

ซื้อแล้วลง ขายแล้วขึ้น เป็นเรื่องปกติที่ผิดพลาดกันได้ครับ แต่ความผิดพลาดนั้น สามารถทำให้ลดน้อยลงไปได้ด้วยความช่างสังเกตครับ

การตั้งซ่อนออร์เดอร์เพื่อหลอกซื้อของ มักจะใช้ในช่วงที่ราคาอยู่ที่แนวรับ จะหลุดแหล่ไม่หลุดแหล่พอดี ซึ่งตรงจุดนี้ ผู้ที่มีต้นทุนต่ำมักจะยอมขายทิ้งลงมา ก่อนที่ราคาจะหลุดแนวรับลงไป หรือไม่ก็มักจะใช้ในช่วงที่ราคาอยู่ที่แนวต้านพอดี ให้เราลุ้นเล่นว่าจะ Breakout ผ่านขึ้นไปได้หรือไม่ พอเราเห็นว่ามันคงไปไม่ไหวแล้ว เราก็จะขายลงมา จากนั้นไม่นานเขาก็จะลากผ่านแนวต้านขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ใครกล้าตาม

เราไปดูการเล่นกับจิตวิทยามวลชนด้วยวิธี Partial Publish กันครับ

หากรายใหญ่ต้องการให้มวลชนขายลงมา เขาก็จะขนหุ้นมาวางขายที่ฝั่ง Offer หนาๆ แล้วตั้ง bid น้อยๆให้เราหวาดเสียวเล่น หรือไม่ก็ใช้ กลวิธี “ทุบให้อ๊วก” ตามแต่ความซาดิสต์ที่มีในจิตใจ

แต่เมื่อราคาไหลหรือดิ่งลงไป ณ ระดับราคาหนึ่งแล้ว รายใหญ่เหล่านั้นก็จะสั่งตั้งซื้อแบบซ่อนออร์เดอร์ ที่ฝั่ง bid ด้วยการตั้งซื้อหุ้นจำนวนมาก แต่ใช้คำสั่ง partial publish ทีละน้อยๆ เช่น สั่ง bid ซื้อหุ้นช่องละ 1 ล้านหุ้น แต่ให้เห็นทีละ 40,000 หุ้น

แหม พอเราเห็นฝั่ง offer หนาๆ ขนาดหลายล้านหุ้นขวางอยู่ ขณะที่ bid เหลือแค่ 40,000 หุ้น เราก็รีบขายซิครับ ก่อนที่ราคานั้นจะมีคนชิงขายลงมาก่อน แต่มันก็น่าแปลก พอเราขายลงมา 40,000 หุ้น มันก็โผล่ขึ้นมาอัตโนมัติที่ฝั่ง bid อีก 40,000 หุ้น พอเราขายอีก 40,000 หุ้น มันก็โผล่เข้ามาอีก 40,000 หุ้น พอเราขายอีก 80,000 หุ้น มันก็โผล่เข้ามาอีก 40,000 หุ้น 2 ครั้ง ติดกัน พอเราหยุดขาย มันก็ยังคงรอเราที่ฝั่ง bid อีก 40,000 หุ้น แบบไม่สะทกสะท้านแรงขาย

คำถามคือ หากเป็นท่านเอง ท่านต้องการจะขายหุ้น 2-3 ล้านหุ้น ท่านจะเอามาวางโชว์ที่ฝั่ง offer ไหมครับ ถ้าท่านแสดงให้คนอื่นเห็นว่าท่านอยากขาย 2-3 ล้านหุ้น แล้วใครจะไปเคาะซื้อล่ะครับ

และใครกันหนอจะรับซื้อที่ฝั่ง bid ได้ไม่อั้นขนาดนั้น ใครขายมาเท่าไหร่ รับซื้อหมดเลย แสดงว่าคนที่รับซื้อไม่อั้นคนนั้น เขาต้องมั่นใจสูงเลยใช่ไหมครับว่าราคาจะวิ่งแน่ เพราะถ้าเป็นคนปกติ เขาไม่ซื้อหรอก ถ้าแรงขายยังขายทิ้งลงมาเรื่อยๆ

ถ้าท่านเห็นแบบนี้ ต้องหยุดขาย หรือ หาจังหวะซื้อคืนแล้วนะครับ พลาดแล้วล่ะ เขากำลังตั้งโต๊ะซื้อของอยู่ และเมื่อไม่มีใครขายลงมาให้แล้ว อีกไม่นาน เขาจะกวาดรวบขึ้นไปอย่างรวดเร็ว

พอวิธีนี้เริ่มมีคนสังเกตเห็น รายใหญ่เลยพัฒนาวิธีใหม่ ด้วยการย้าย partial publish มาที่ฝั่ง offer แทน พร้อมๆกับ ทยอยตั้งรับ ที่ฝั่ง bid ด้วย จากนั้นก็เคาะซื้อของตัวเองไปเรื่อยๆ ที่ฝั่ง offer เพื่อให้ใครๆเห็นว่า นี่เป็น partial publish นะ มีออร์เดอร์ซ่อนขายที่ฝั่ง offer นะ น่ากลัวนะ

พอเขาเคาะซื้อ 100,000 หุ้น โห partial publish ไหลมาให้เห็น 20 รายการๆละ 5,000 หุ้น เลยแหะ อีกสักพัก เขาก็เคาะซื้ออีก 200,000 หุ้น partial publish ก็จะโชว์ให้เห็นมา 40 รายการๆละ 5,000 หุ้น ว่าไง ว่าไง กลัวไหม มีออร์เดอร์ซ่อนขายอยู่นะ

พอเราเห็นว่า เคาะซื้อฝั่ง offer เท่าไหร่ก็ไม่หมดซะที แถมซ่อนออร์เดอร์ซะด้วย ด้วยความรู้เท่าทัน เราก็จะขายโครมลงมาที่ฝั่ง bid แหะๆๆ เสร็จเขาเลยล่ะครับ เขาได้ของไปแล้ว พอฝั่ง bid จะหมด เขาก็เติม bid อีก ขายมาเท่าไหร่ ฝั่ง bid ก็ไม่หมดซะที ไอ้ที่เราขายไปแล้ว นั่งรอทั้งวัน ยังไม่ได้ซื้อคืนเลย

คำถามคือ หากเป็นท่านเอง ท่านต้องการจะซื้อหุ้นจำนวนมาก ท่านเห็นว่าฝั่ง offer หนาขนาดนั้น เคาะไม่ผ่านสักที ท่านจำเป็นจะต้องรีบตั้ง bid มาจ่อแบบนี้ไหมครับ ทำไมฝั่ง offer ไมผ่าน แต่ฝั่ง bid ก็ไม่หลุดล่ะ ถ้าไม่มีคนตั้งโต๊ะรอซื้อไม่อั้นที่ฝั่ง bid

แต่ถ้า Offer ไม่ผ่าน ฝั่ง bid ก็ไหลรูด ตัวใครตัวมันล่ะกันนะครับ

น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวางนะครับ


INFO: ThaiDayTrade


ถอดรหัสตลาดหุ้น #1 ทำเป็นเก่ง เจ๊งสถานเดียว
ถอดรหัสตลาดหุ้น #2 Limit Loss ไม่เป็น เงินเย็นหายเ...
ถอดรหัสตลาดหุ้น #3 ยิ่งถูกยิ่งซื้อ ยิ่งซื้อยิ่งลง
ถอดรหัสตลาดหุ้น #4 ยิ่งไม่กล้าเสี่ยง กลับยิ่งเสี่ยง
ถอดรหัสตลาดหุ้น #5 วิ่งไปตามแนวโน้ม
ถอดรหัสตลาดหุ้น #6 รู้เขารู้เรา
ถอดรหัสตลาดหุ้น #7 เกาะไปกับ Fund Flow
ถอดรหัสตลาดหุ้น #8 ขายหมูดีกว่าขายหมา น้ำลายหกดีกว่าน้ำตาตก
ถอดรหัสตลาดหุ้น #9 ย้อนรอย วัฏจักรตลาดหุ้น
ถอดรหัสตลาดหุ้น #10 กลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ
ถอดรหัสตลาดหุ้น #11 กลวิธี สวนควันปืน เล่นฝืนมวลชน
ถอดรหัสตลาดหุ้น #12 กลวิธี สงครามกองโจร
ถอดรหัสตลาดหุ้น #13 กลลวง ข่าวลือ
ถอดรหัสตลาดหุ้น #14 กลโกงปั่นหุ้น
ถอดรหัสตลาดหุ้น #15 รวยเรื้อรัง หันหลังให้คำว่าเจ๊ง
ถอดรหัสตลาดหุ้น #16 วาทะรับน้อง