------------------------------------------ ------------------------------------------------------------ trader: มนสิช จันทนปุ่ม Trader ผู้เอาชนะตลาดด้วยระบบ

วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มนสิช จันทนปุ่ม Trader ผู้เอาชนะตลาดด้วยระบบ



เปิดมุมมองการลงทุนโดยใช้ระบบเทรด "มด"มนสิช จันทนปุ่ม นักเก็งกำไรสไตล์ Trend Following  เจ้าของเว็บไซต์การลงทุนชื่อดัง"แมงเม่าคลับ" ผู้ละทิ้งอีโก้ อารมณ์ พิชิตกำไรในตลาดหุ้น เขามีความเชื่อว่าศาสตร์ของการเก็งกำไรอยู่บนพื้นฐานของ "เหตุและผล" กราฟไม่ได้หลอก และเจ้ามือไม่ใช่ปัญหาของนักเก็งกำไร รากเหง้าของผลกำไรจากระบบการลงทุนที่ยั่งยืน เกิดจากกลไกพื้นฐานของตลาดซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่สามารถฝืนหรือหลีกเลี่ยงได้ คำถามสำคัญของนักเก็งกำไร ก็คือ เราจะสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนได้อย่างไร.........?

“ส่วนตัวผมลงทุนโดยใช้ระบบเทรดเพื่อตัดอารมณ์ความรู้สึก และใช้เทคนิคคัลแนว Trend Following” เซียนหุ้นหนุ่มเปิดประเด็น..สมัยเด็กๆ เขาก็เริ่มสนใจการลงทุนแล้ว พอจบ ม.6 ก็เริ่มเล่นหุ้นทันที แต่สนใจทางด้านดนตรีด้วยจึงไปศึกษาต่อทางด้านดุริยางคศิลป์ มนสิชก็เหมือนเด็กทั่วไปที่อยากรวยง่ายๆ แต่พอลงสนามจริงๆ กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด


เขากล่าวว่า ช่วงที่เริ่มต้นลงทุนใหม่ๆ ใช้เงินไม่เยอะขายของได้เงินมา "ไม่ถึงแสนบาท" ก็นำมาลงทุนแต่ที่บ้านไม่ค่อยสนับสนุนวิธีคิด ค่อนข้างจะต่อต้านด้วย ในเมื่อหาผู้ให้คำปรึกษาไม่ได้ก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เล่นแล้วก็ไม่ได้เรื่องลุ่มๆดอนๆ ลองผิดลองถูกอยู่ 4-5 ปีถึงจะเริ่มได้กำไรสม่ำเสมอ 

เจ้าตัวบอกว่าไม่จริงเสมอไป คนเล่นดนตรีจะไม่ชอบตัวเลข นักดนตรีหลายคนก็สามารถคิดเลขได้ดี และมีบทวิจัยยืนยันด้วยว่าการเล่นดนตรีกับการคำนวนสามารถไปด้วยกันได้ หัวสมองก็จะได้ทั้งความสุนทรีย์และความมีเหตุมีผล ถือเป็นการสร้างสมองสองด้านให้สมดุล 

มด บอกว่า ช่วงแรกที่ลงทุนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก็ได้ศึกษาวิธีการลงทุนของผู้ประสบความสำเร็จอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ต่อมาก็เริ่มศึกษาการลงทุนโดยใช้เทคนิคและพบว่าแนวทางนี้ "มันใช่" แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี มีผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ ตอนหลังถึงเริ่มจะเข้าใจว่าผิดที่ “แก่น” (หลักคิด) ของมันเลย สมัยก่อนพยายามที่จะพยากรณ์อนาคต นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ดูกราฟวันละ 7-8 ชั่วโมง พยายามหาคำตอบแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายจึงหาคำตอบได้ว่าไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำทั้งหมด และไม่มีระบบไหนที่ดีที่สุด 

“ช่วงแรกมีความเข้าใจว่าถ้าเราเทรดพลาดแปลว่าเราทำอะไรผิดสักอย่าง เราเลยยิ่งค้นหาไปเรื่อยๆว่าต้องใช้สัญญาณทางเทคนิคแบบไหนถึงจะถูก คำตอบที่แท้จริงคือเทคนิคมันบอกเพียงแค่ "ความน่าจะเป็น" ไม่ถูก 100% ความน่าจะเป็นของการใช้เทคนิคมันถูกทดสอบจากากรเทรดมาแล้วเป็นพันครั้ง แล้วกำหนดเป็นสูตรออกมาแต่เราจะไม่มีทางรู้ได้ว่าการเทรดของเราครั้งไหนจะถูก"

 
เทรดด้วย 'โปรแกรมสถิติ' ยึดระบบ ละทิ้งอีโก้ 

 หลังจากมดเริ่มศึกษาการใช้ระบบในการเทรดหุ้น (System Trading) สิ่งที่ตอบโจทย์ก็คือระบบมันตัด “อารมณ์” และ "ความรู้สึก" ของผู้ลงทุนออกไป ระบบการเทรดจะตัดอะไรที่เป็น “นามธรรม” ออกไปและคิดเฉพาะที่เป็น "ตัวเลข" เท่านั้น สามารถพิสูจน์ได้ว่าขั้นตอนไหนดีหรือไม่ดี ปัจจัยไหนที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น ตัดส่วนที่ไม่สำคัญออกไป ส่วนไหนที่เวิร์คก็นำมาจัดเป็นกฎระเบียบในการเทรด การลงทุนจะมีความเที่ยงตรงมากขึ้น การตัดสินใจจะไม่ขึ้นกับอารมณ์ เราจะไม่สนใจสภาวะตลาดเพราะได้ทดสอบความเป็นไปได้ทางสถิติที่เกิดขึ้นซ้ำๆ มาแล้วเป็นสิบปีๆแล้วนำมาพยากรณ์ความน่าจะเป็น เมื่อเราตัดสินใจอย่างเป็นระบบ ผลตอบแทนก็จะสม่ำเสมอ ถ้าเป็นในต่างประเทศจะมีระบบเทรดอัตโนมัติแต่ในไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น

 “ยกตัวอย่างง่ายๆ ระบบเทรดคือกฎที่วางไว้ เช่น พอหุ้นทะลุแนวต้านขึ้นมาก็ซื้อ เราจะคำนวณความเป็นไปได้ของมันแล้วมาจับใส่สัญญาณว่าจะซื้อหรือขาย ให้น้ำหนักการลงทุนอย่างไร” 

ด้วยระบบเทรดที่สร้างขึ้นควรที่จะออกแบบให้มีความยืดหยุ่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้แต่คงไม่ถึงขั้นเปลี่ยนรายวัน อาจจะเป็นรายเดือนถึงรายปี เพราะการที่รวบรวมข้อมูลมาเป็นสิบปีคงไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้เยอะนัก 

ส่วนสไตล์การลงทุนจะเป็นการเล่นตามแนวโน้มหรือ Trend Following ที่จับคู่กับระบบเทรด ที่จริงแล้วสไตล์การลงทุนแบบตามแนวโน้มเป็น "ปรัชญา" อย่างหนึ่งคือเราต้องอยู่กับปัจจุบันแทนที่จะมองอนาคต เราเพียงตอบสนองไปตามสภาพตลาดที่เกิดขึ้น แนวโน้มไปทางไหนเราก็ไปทางนั้น 

หลักการสำคัญของการเล่นตามแนวโน้มคือ ต้องรู้จัก Cut Loss และ Let Profit Run บริหารความเสี่ยงดีๆ ควบคุมโอกาสขาดทุนให้ต่ำ ถ้ามีกำไรต้องกินยาวๆ เวลาขาดทุนอาจจะเสียแค่บาทเดียวแต่อาจได้กำไรสามบาท แต่ถ้าโอกาสกำไรหรือขาดทุนเท่าๆกันแบบนี้พอร์ตจะไม่ไปไหน 

หลายคนเชื่อว่าการเก็งกำไรไม่มีทางประสบความสำเร็จ มนสิช ไม่เชื่อแนวคิดนี้การเก็งกำไรมีมานานแล้วในตลาดหุ้นและตลาดคอมมอดิตี้ แม้แต่เฮดจ์ฟันด์ที่ประสบความสำเร็จมากอย่าง เรเนสซอง เทคโนโลยี ของ จิม ไซมอน ยังสามารถทำกำไรเฉลี่ยทบต้นได้ถึง 34% ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีปีไหนที่ขาดทุนและทำกำไรได้ทุกสภาวะด้วย

 “บางทีเราต้องเปิดใจมองอะไรกว้างๆ ผมได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าใช้เทคนิคอย่างเป็นระบบสามารถอยู่รอดได้ หลายๆ คนก็ทำได้ รายย่อยทุกคนก็ต้องทำได้ นักเก็งกำไรไม่ใช่นักพนัน..นักพนันจะเล่นเกมที่เขาอาจแพ้ได้โดยไม่รู้ตัว แต่นักเก็งกำไรจะเล่นเฉพาะเกมที่มีโอกาสชนะ" 

กับคำถามที่ว่าเราไม่ต้องสนใจปัจจัยพื้นฐานเลยได้มั๊ย!! เซียนหุ้นหนุ่ม บอกว่า จากการสังเกตุพื้นฐานของหุ้นกับกราฟเทคนิคพอจะมีความสัมพันธ์กันอยู่บ้าง ส่วนตัวก็เริ่มลงทุนโดยมีบัฟเฟตต์เป็นไอดอล แต่มีความสุขที่ได้มองกราฟทั้งวันมากกว่า สรุปก็คือ กราฟเทคนิคจะมีความสัมพันธ์กับงบการเงินที่ประกาศออกมาเช่นกัน แต่ส่วนตัวจะเชื่อกราฟและระบบมากกว่า


บริหารหน้าตักเหมือนควบคุมเสียงดนตรี 

มดไขคำตอบด้วยว่าทำไม! คนที่เก่งเทคนิคแต่พอร์ตกลับไม่โต คำตอบคือจะต้องบริหารหน้าตักหรือ Money Management ที่ดีประกอบด้วย ถ้าเก่งเทคนิคการเทรดเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้พอร์ตโตได้จะต้องบริหารหน้าตัก "เป็น" ด้วย มุมมองส่วนตัวเทรดเดอร์คนไหนบริหารเงินในพอร์ตไม่เป็นถือว่า "ไม่เก่งจริง"

 การบริหารหน้าตักที่ดีจะต้องมาพร้อมกับการบริหารความเสี่ยง เราจะต้องควบคุมความเสี่ยงในทุกครั้งที่เทรดต้องขาดทุนไม่ 1% ของพอร์ต เพราถ้าเสียลึกไปกว่านี้โอกาสที่จะเอาคืนยากมาก สิ่งที่จะทำให้เราขาดทุนไม่ลึกกจะต้องควบคุม “ขนาดการลงทุน" นำจุดตัดขาดทุนมาคำนวนกับความผันผวนจะรู้ได้ว่าควรลงเงินเท่าไรในการเทรดต่อครั้ง 

ในฐานะนักดนตรี เขาเปรียบเปรยหลักการบริหารเงินเหมือน "ตัวควบคุมระดับของเสียง" ถ้าระบบการเทรดคือเสียงที่เราอัด ระบบที่ดีคือเสียงที่เราบันทึกมาว่ามีคุณภาพเป็นอย่างไร ถ้าเราเปิดเสียงเบาเกินไป ผลตอบแทนที่ได้ก็จะต่ำเกินไปหรือฟังแล้วไม่ไพเราะ แต่ถ้าเปิดเสียงดังเกินไปจนลำโพงแตก แทนที่พอร์ตของเราจะกำไรก็ขาดทุนแทน ทุกระบบการเทรดจึงมีขนาดการลงทุนที่เหมาะสมอยู่ มากเกินไปน้อยเกินไปจะไม่ดี "ต้องพอดี" 

“การรักษาความเสี่ยงไม่ให้เกิดบาดแผลใหญ่ในการเทรดแต่ละครั้งคือหัวใจสำคัญของการบริหารหน้าตัก ไม่ว่าคนพอร์ตเล็กหรือใหญ่จะต้องมีการจัดการ Money Management ทั้งนั้น ยิ่งคนพอร์ตเล็กยิ่งต้องสนใจเพราะเราอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ว่ารับความเสี่ยงมากเกินพอร์ตอยู่หรือเปล่า” เรียนรู้จิตวิทยาการเทรด มด กล่าวต่อว่า การบริหารหน้าตักยังเชื่อมโยงไปถึงจิตวิทยาการเทรดด้วย เพราะแม้ว่าจะมีระบบการเทรดที่ดี แต่ถ้าพอร์ตเกิดขาดทุนหนักอย่างรวดเร็วอาจจะเกิดอาการช็อกหรือพอทำกำไรได้เร็วมากๆ จะเกิดอาการตื่นเต้นจนทำผิดแผนลงทุนที่วางไว้ 

การเป็นเทคนิคคัลที่ดี “วินัยการลงทุน” มีความสำคัญมากๆ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจให้ถูกก่อนว่าการใช้เครื่องมือทางเทคนิคมันเป็นเพียงแค่ “ความน่าจะเป็น” จากการทดสอบมาแล้วหลายร้อยหลายพันครั้ง จึงไม่สามารถบอกได้ทุกครั้งว่าจะต้องได้กำไรเท่าไร เพียงแค่บอกได้ว่าถ้าลงทุนโดยใช้ระบบนี้จะทำให้ได้กำไรหรือไม่ เทรดเดอร์จึงต้องยอมรับในความน่าจะเป็นนี้ แต่หลายคนมี “อีโก้” เมื่อการลงทุนไม่เป็นไปตามที่ระบบวางไว้ก็จะเกิดความกลัวผิดพลาดตามไปหมดหรือทำใจไม่ได้ที่การตัดสินใจผิดพลาด นำไปสู่การไม่ทำตามระบบที่วางไว้ในที่สุด 

เหมือนกับการไปเล่นคาสิโนและหยอดเหรียญลงสล็อต ต้องเข้าใจว่าถ้าเราไม่ได้เงินจากการเล่นครั้งนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรา มันเป็นเพราะดวงไม่ดี การที่เสียเงินจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดของเรา ถ้าเข้าใจได้แบบนี้ถึงจะลงทุนตามระบบได้ในระยะยาว การที่มีอีโก้จะทำให้เราไม่ยอมรับในระบบ ถ้ามีความเข้าใจเรื่องของระบบเทรดมันจะกลบอีโก้เราได้จะช่วยเตือนสติเรา 

“สรุปคือในการเทรดทุกอย่างมันเชื่อมกันหมดทั้งระบบเทรด Money Management และจิตวิทยา นักลงทุนจะต้องเข้าใจทั้งสามสิ่งนี้ถึงจะเทรดแล้วอยู่รอดได้ในระยะยาว ต่อให้ระบบดีแค่ไหนแต่ถ้าบริหารเงินไม่ดีและไม่เข้าใจจิตวิทยาการเทรด ต่อให้ได้กำไรก็ไม่สูงเท่าที่ควรจะได้” 

ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์แมงเม่าคลับ ทิ้งท้ายว่าตลาดหุ้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถเอาชนะได้ยากเกินความสามารถของนักลงทุนรายย่อย ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือการเทรดที่ซับซ้อน ส่วนตัวอยากให้ใช้ชีวิตการลงทุนให้ง่าย ช่วงแรกที่เราสร้างระบบอาจจะยากแต่ถ้าเราสามารถหาระบบที่เหมาะสมกับตัวเราได้ทุกอย่างต่อไปจะง่าย 

“ทำไมนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ผมคิดว่าพวกเขาไม่มี Passion (ความมุ่งมั่น) ที่จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง คนส่วนใหญ่ต้องการรวยแบบฉาบฉวย แต่จริงแล้วการลงทุนเหมือนทำธุรกิจคือต้องมีความรู้ ประสบการณ์และทักษะ ช่วงแรกๆเราอาจเจ็บตัวบ้างแต่อย่ายอมแพ้ ทำในสิ่งที่เราชอบและพัฒนามันให้ดีที่สุด” --------------------


บทเรียนนักเก็งกำไร..'เจสซี่ ลิเวอร์มอร์'

มด ยกตัวอย่างหนังสือที่เขียนขึ้นพิเศษสำหรับสมาชิกเว็บไซต์ โดยยกกรณีศึกษาของ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นตำนานแห่งวอลสตรีท โดยเฉพาะช่วงที่เกิดเหตุการณ์ Great Depression ปี 1929 เป็นคนที่เก่งมากแต่มีจุดอ่อนที่ใหญ่ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนสำคัญให้นักลงทุนทุกคน 

“เขาเป็นเซียนหุ้น เซียนคอมมอดิตี้ เมื่อ 90 กว่าปีที่แล้ว เขาเป็นต้นแบบการเก็งกำไร วิชาการเทรดที่เราได้เรียนมาอย่างเล่นตามแนวโน้ม การควบคุมความเสี่ยง ทยอยซื้อช่วงขาขึ้น ฯลฯ เจสซี่เป็นต้นแบบทั้งนั้นทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐีและก็เจ๊งหมดตัวและก็กลับมารวยใหม่ แต่สุดท้ายต้องฆ่าตัวตาย น่าสนใจว่าทำไมคนเก่งเรื่องการลงทุนถึงมีผลการลงทุนผันผวนขนาดนี้” 

ข้อคิดจากบทเรียนดังกล่าวก็คือ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ มักจะ “ลืมตัว” และลืมในสิ่งที่ตั้งใจไว้เพราะประสบความสำเร็จมามากจนมีอีโก้ที่สูง ถ้าศึกษาแนวทางลงทุนของเขาจะค่อยๆ กำไรจากการเพิ่มโพสิชั่นการเทรดในเวลาที่ตลาดกำลังเป็นขาขึ้นถ้าถูกทางก็จะเติมเงินลงไปเรื่อยๆ แต่พอบางช่วงที่เขาคิดว่าหุ้นจะต้องลงก็ไปชอร์ตไว้แต่กลับไม่ลง เขาก็ทำใจไม่ได้เพราะมั่นใจในตัวเองสูงเลยเฉลี่ยขาดทุน เงินที่มีอยู่เท่าไรก็เติมไปจนหมด สุดท้ายก็ขาดทุนหนักเพราะฝืนแนวโน้มตลาด นี่คือเครื่องเตือนใจว่าแม้จะมีระบบการเทรดและแนวคิดดีแค่ไหน สำคัญคือจะต้องมีการควบคุมอารมณ์เสมอ 

“เขามักจะลืมตัวและลืมในสิ่งที่ตั้งใจไว้ ถึงอย่างไรเขาก็กล้าที่จะเขียนความผิดพลาดของตัวเองลงไปในหนังสือว่าไม่ควรทำแบบนั้นเลย เขาถึงเจ็บซ้ำแบบเดิมๆ เดี๋ยวรวยเดี๋ยวจน จะเห็นได้ว่าเขามีไอคิวการลงทุนสูงแต่มีอีคิวไม่สม่ำเสมอ อารมณ์แบบนี้ทำให้ชีวิตครอบครัวแตกแยก จนต้องยิงตัวตายในที่สุด”



INFO: Bizweek, http://2binvestor.blogspot.com/2012/12/blog-post.html