หุ้น ANAN ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 4.02 บาท ลดลง 0.18 บาท(-4.29%)จากราคาขาย IPO ที่ 4.20 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 1,456.57 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 4.14 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 4.28 บาท และราคาลงต่ำสุด 4.00 บาท
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์(ประเทศไทย)ระบุในบทวิเคราะห์ให้คำแนะนำเป็นไปในเชิงลบคือ"เต็มมูลค่า"ในหุ้นบมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์(ANAN)กำหนดราคาพื้นฐานไว้ที่ 4.17 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับราคาจอง และประเมินด้วย P/E ปี 56 ที่ 15 เท่า คาดว่าทางบริษัทยังจะไม่จ่ายปันผลในงวดปี 55 และ 56 เพราะอยู่ในช่วงการลงทุน ซึ่ง P/E ปี 56 ที่ราคาจองถือว่าไม่ถูกเป็น 15.2 เท่า
นอกจากนี้ เห็นปัจจัยลบ 3 ประการคือ 1) บริษัทได้เงิน IPO มา 5.6 พันล้านบาท แต่นำไปชำระหนี้ KTB ถึง 3 พันล้านบาท ทำให้เหลือเงินขยายกิจการน้อย 2) บริษัทมีแผนจะซื้อหุ้น ADO ในส่วนที่เหลืออีก 48.3% จาก TMW มาทำโครงการแนวราบ ใช้เงิน 1 พันล้านบาท แบ่งจ่ายเป็น 4 งวด ความเสี่ยงคือ ต้องกู้เงินอีก 2.3 พันล้านบาท สำหรับการก่อสร้างบ้านแนวราบ หากขายไม่สำเร็จ ก็จะทำให้กระแสเงินสดเกิดปัญหาได้ และ 3) กำไรในงวด 1H56 คาดว่าจะน้อย เพราะส่วนใหญ่โอน 2H56 หากนักลงทุนชอบหลักทรัพย์ที่ทำคอนโดเป็นหลัก แนะนำ RML เพราะกำไรสุทธิปี 55 โดดเด่น และปี 56 ก็มี Backlog และกำไรที่เติบโตดีรออยู่แล้ว P/E ปี 56 ถูกเพียง 4.5 เท่า
ANAN ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ภายใต้บริษัทและบริษัทย่อยคือ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู (AD2) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ANAN ถือหุ้น 100% เน้นพัฒนาคอนโดติดสถานีขนส่งของรถไฟฟ้า ปัจจุบันมีโครงการที่เปิดจำหน่ายอยู่ระหว่างการโอน 8 โครงการ ส่วนโครงการบ้านแนวราบ บริหารภายใต้ ANAN และบริษัท บลูเด็ค ใกล้สนามบินสุวรรรภูมิ ถนนบางนา-ตราด
ทั้งนี้ คาดว่าปี 55 ยังคงมีผลขาดทุนสุทธิ -420 ล้านบาท สูงกว่าปี 54 ที่ขาดทุนสุทธิ 317 ล้านบาท แรงผลักดันมาจาก 1) สัดส่วนค่าใช้จ่ายขาย-บริหารเทียบกับรายได้สูงเป็น 24% เทียบ y-o-y เป็น 14% และ 2) รายการตัดจำหน่ายสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่ทำกับลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 473 ล้านบาท เทียบกับ y-o-y ที่ 232 ล้านบาท แม้ว่ารายได้รวมปีนี้สูงขึ้น 1% y-o-y เป็น 5.7 พันล้านบาทก็ตาม
เหตุการณ์สำคัญคือ พ.ย.53 บริษัทได้ซื้อหุ้น AD2 ที่เหลือทั้งหมดจากกองทุน เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียวใน AD2 และมีรายได้หลักมาจากคอนโดของ AD2 นั่นเอง ผลกระทบทางลบคือ 1) อัตรากำไรขั้นต้นต่ำลง เนื่องจากมีต้นทุนการตัดจำหน่ายส่วนเกินมูลค่ายุติธรรมเพิ่มขึ้น 2) มีค่าใช้จ่ายตัดจำหน่ายฯเพิ่มในงบกำไรขาดทุน และ 3) มีการกู้เงินจาก KTB มาซื้อหุ้น 1.7 พันล้านบาท ( กู้ KTB เพิ่มมาสร้างคอนโด Ideo Mobi อีก 1.4 พันล้านบาท)
อย่างไรก็ดี คาดว่าปี 56 จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิเป็น 927 ล้านบาทได้ เพราะ 1) มียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) คอนโด ณ พ.ย.55 อยู่ในระดับสูงเป็น 8.2 พันล้านบาท และมีโครงการรอขายอีก 5 พันล้านบาท ส่วน Backlog ของแนวราบไม่สูงนักเป็น 188 ล้านบาท คาดว่ารายได้รวมปี 56 เพิ่ม 24% y-o-y เป็น 7.1 พันล้านบาท 2) อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มเป็น 35% เทียบกับปี 55 ที 31% และไม่มีรายการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตัดจำหน่ายฯ หลังจากโครงการที่ซื้อมาจาก AD2 ได้โอนเกือบหมดไปแล้ว และ 3) สัดส่วนค่าใช้จ่ายขาย-บริหารเทียบกับรายได้ลดลงเป็น 20% จากฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น แม้จำนวนเงินค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ความเสี่ยงที่กำไรอาจจะน้อยกว่าประมาณการคือ โครงการ Ideo Mobi 4 โครงการที่จะให้รายได้หลักในปี 56 หากก่อสร้างไม่ทันก็จะทำให้การโอนและรายได้น้อยลงตามไปด้วย ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ไปแล้วเสร็จในช่วง 4Q55 โดยปัจจุบันปัญหาแรงงานที่ขาดแคลนทำให้เกิดปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้าได้
INFO: ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2555 12:34:24 น.