ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อคนมีอายุมากขึ้น อาจจะตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะ “มองไปข้างหลัง” นั่นคือ แทนที่จะ “มองไปข้างหน้า” คิดถึงอนาคตที่ “สดใส” ที่จะเกิดขึ้น หรืออนาคตที่เขาจะสร้างมันให้กับตัวเอง คิดถึงความร่ำรวยและชื่อเสียง คิดถึงชีวิตครอบครัวและลูกที่เขาจะมีหรือลูกที่จะเติบโตขึ้น คนอายุมากกลับนึกถึง วันเก่า ๆ ที่พวกเขาผ่านมา คิดถึง “ความสุข” ที่พวกเขาได้เคยสัมผัส คิดถึงเรื่องราวความประทับใจต่าง ๆ ที่ได้ประสบมา พวกเขามักจะรู้สึกว่า สิ่งเก่า ๆ เหล่านั้น เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และที่สำคัญที่สุดก็คือ มันให้ความสุขทางด้านจิตใจมากกว่าสิ่งใหม่ ๆ แม้ว่ามันจะไม่มีความสะดวกสบายเทียบเท่า ดังนั้น คนที่มีอายุมากจำนวนมากจึงมักจะพยายาม “ปฏิเสธ” แนวความคิดและวิถีชีวิตแบบคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นที่เป็นหนุ่มสาว อาการแบบนี้ เกิดขึ้นได้แม้แต่กับคนที่เคยมีความคิดก้าวหน้ามากที่สุดและประสบความสำเร็จสูงมากในยามที่เขายังเป็นคนหนุ่มสาว พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ พวกเขาติดยึดกับ “อดีตที่รุ่งเรือง” และไม่สามารถที่จะปรับตัวเข้ากับปัจจุบันและอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปมากได้ ดังนั้น พวกเขากลายเป็นคนที่ “ล้าสมัย” เป็น “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” อย่างที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา 16 เคยพูดไว้ถึงสถานะของตัวเองเมื่อออกจากป่าเข้ามอบตัวกับรัฐบาลในช่วงราวปี 2522
ที่จริงในช่วงที่อาจารย์ เสกสรรค์ พูดนั้น เขายังหนุ่มมาก แต่ดูเหมือนเขาจะยอมรับว่าแนวความคิดและความเชื่อทางการเมืองที่มีมาแต่เดิมนั้น ใช้
ไม่ได้อีกต่อไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นที่จีนกับโชเวีย
ตรัสเซียเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงส่งผลให้แนวทางการต่อสู้ของนักศึกษา
ที่เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลไทยผิดทางไปหมดและ
ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้น พวกเขาจึงออกจากป่าเพื่อหาหนทางใหม่ บางคนก็กลายเป็นสิ่งชำรุดที่ “ไม่สามารถแก้ไขได้” ตลอดกาล
ผมเกริ่นเรื่องที่เป็นแนวความคิดทางการเมืองก็อาจจะเป็นเพราะการติดยึดกับอดีตและจำคำประทับใจที่ได้ฟังในช่วงวัยหนุ่มได้ นี่ก็เป็นอาการของคนสูงอายุอย่างที่พูด อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ตระหนักอยู่เสมอว่า ความ “ล้าสมัย” ของผมนั้น พร้อมที่จะเกิดได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วจนไม่น่าเชื่อ สิ่งที่ผมจำได้เมื่อยังเป็นเด็กหรือคนหนุ่มนั้น เดี๋ยวนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้วและเราจะต้องยอมรับมัน เราไม่สามารถฝืนกระแสได้ เราจะต้องยอมรับว่าสิ่งที่คนแก่หรือคนมีอายุทำนั้น มันมักจะกำลังกลายเป็นอดีตไม่ช้าก็เร็ว สิ่งใดที่คนหนุ่มสาวหรือเด็กคิดและทำที่มันแตกต่างจากคนสูงวัย มันก็จะกลายเป็นอนาคต ดังนั้น ถ้าเราจะพูดถึง “กระแส” หรือแนวโน้มหรือทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ทางหนึ่งก็คือ การดูว่าคนหนุ่มสาวหรือเด็กคิดหรือทำอย่างไร
ลองมาดูว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างที่ผมยังเป็นหนุ่ม กับปัจจุบันที่คนหนุ่มสาวกำลังทำ ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินไป เริ่มกันตั้งแต่ทางด้านสังคมซึ่งสิ่งที่ผมเห็นว่าเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากที่สุดก็คือเรื่องของความเสมอภาคระหว่างหญิงกับชาย ดังนั้น เรื่องของการ “รักนวลสงวนตัว” ซึ่งในสมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เดี๋ยวนี้เราแทบไม่พูดกันแล้ว เช่นเดียวกับการที่ผู้ชายเป็น “ช้างเท้าหน้า” เป็นผู้นำครอบครัว เดี๋ยวนี้ก็ลดดีกรีลงไปมาก เรื่องที่สองคือเรื่องของการเมืองที่ผมเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้ามาเป็นเวลานาน แต่ในระยะหลัง ๆ นี้ อาจจะประมาณซักสิบปีที่ผ่านมา ตอนนี้ก็เห็นได้ชัดว่าทิศทางคงจะเปลี่ยนไปเป็นระบบเสรีประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบทุนนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เหตุผลของผมก็คือ คนสูงอายุนั้น ยังค่อนข้างยึดหลักจารีตนิยมอยู่มาก แต่คนหนุ่มสาวในวันนี้ดูเหมือนว่าจะมีแนวความคิด “เสรี” มากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาไม่สนใจหรือไม่ได้ยึดแนวความคิดเรื่องความ “อาวุโส” หรือนิยมชมชอบในเรื่องของ “ชาติกำเนิด” หรือ ตำแหน่งทางสังคม มากเหมือนในสมัยก่อน พวกเขาสนใจเรื่องว่าใครมีเงินหรือมีความสามารถส่วนตัวมากกว่ากัน ว่าที่จริงเงินนั้นกลายเป็นเครื่องวัดความเป็น “ไฮโซ” ในปัจจุบันไปแล้ว ซึ่งนี่ก็คือแนวทางของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่นั่นเอง
ในด้านของเศรษฐกิจนั้น คนไทยไม่ได้พึ่งพิงภาคเกษตรกรรมอย่างที่ผมเห็นในสมัยที่เป็นหนุ่ม คนหนุ่มสาวสมัยนี้อยู่ตามโรงงานและสถานที่ให้บริการต่าง ๆ มีแต่คนแก่เป็นส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ทำไร่ทำนาในชนบท ดังนั้น นับวันก็คือ ประเทศไทยจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คำพูดที่ว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และปีนี้เศรษฐกิจดีเพราะข้าวหรือพืชผลการเกษตรดีนั้น จะมีความเป็นจริงน้อยลงไปเรื่อย ๆ
ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญที่ผมจะพูดถึงก็คือ ธุรกิจหรือบริษัทหรือหุ้นที่เราจะลงทุน เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะชี้ว่าเราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนแค่ไหน? สิ่งที่เราจะต้องวิเคราะห์และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็คือ บริษัทของเรานั้นเป็นบริษัทแห่งอนาคตหรือมีอนาคตที่สดใส หรือเป็นบริษัทที่กำลังจะกลายเป็น “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” นั่นก็คือ เราต้องพิจารณาดูว่าบริษัททำธุรกิจอะไร ขายสินค้าหรือให้บริการอะไร สินค้าหรือบริการเหล่านั้นมีโอกาสที่จะ “ล้าสมัย” และล้มหายตายจากไปจากตลาดหรือไม่ นอกจากนั้น เราก็จะต้องดูด้วยว่าผู้บริหารของบริษัทที่เราลงทุนนั้น เป็นคนที่อาจจะกลายเป็น “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” หรือไม่? นั่นก็คือ ผู้บริหารอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นภัยคุกคามหรือตระหนักแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การที่ผู้บริหารมีอายุมากเกินไปก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงถึง จริงอยู่ คนแก่บางคนก็ยังมีความคิดที่ทันสมัยแต่นี่อาจจะเป็นข้อยกเว้นที่เราจะต้องดูให้ดี
ในอดีตที่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกนี้มักจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้ความเสี่ยงเนื่องจากการล้าสมัยมีไม่มาก ดังนั้น ปัจจัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่หรือสำคัญนัก แต่ในยุคปัจจุบันผมคิดว่านี่คือความเสี่ยงจริง ๆ ที่ลืมคิดไม่ได้ ลองนึกดูสินค้าที่ล้าสมัยอย่างรวดเร็วจนบริษัทตั้งตัวไม่ทันดูก็จะพบว่ามีมากมาย ตัวอย่างเช่น กล้องถ่ายรูปรุ่นที่ต้องใช้ฟิล์มที่ถูกทำให้ล้าสมัยภายในไม่กี่ปีหลังจากที่มันอยู่มาเป็นร้อยปี ดูเรื่องการบินที่สายการบินโลว์คอสท์ดูเหมือนจะมาแย่งชิงการนำจากสายการบินแบบเดิม และแม้กระทั่งช่วงเร็ว ๆ นี้ที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล PC ที่โดนโน้ตบุคแย่งตลาดและทำให้ล้าสมัย และก็เพียงไม่นานต่อมาในช่วงนี้ก็ดูเหมือนว่า แท็บเล็ต ก็กำลังจะเข้ามาทำให้โน้ตบุคอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก นี่ยังไม่ต้องพูดถึง สมาร์ทโฟน ที่อาจจะกำลังเข้ามาทำให้อะไรก็ตามที่ “อยู่กับที่” กลายเป็นสิ่งล้าสมัย ถ้าจะพูดไปก็คงต้องใช้หน้ากระดาษอีกมาก แต่ข้อสรุปก็เหมือนกันนั่นคือ ความ “ล้าสมัย” นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นกับธุรกิจต่าง ๆ ได้มากมายแม้แต่บริษัทที่โดดเด่นมาก ๆ
ผมคงไม่ต้องพูดว่า ชีวิตของเราคือทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุด ดังนั้น เราจะต้องรักษามันไว้ให้มีความ “ทันสมัย” อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าเราต้องทำตัวให้ทันสมัย จิตใจและความคิดต่างหากที่เราจะต้องตระหนักรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในโลกโดยเฉพาะที่อยู่รอบตัวเรา นักลงทุนนั้น ชีวิตจะรุ่งเรืองหรือตกต่ำปัจจัยสำคัญอยู่ที่การรู้จักเลือก ทั้งเลือกในเรื่องของหุ้นหรือกิจการที่เราจะลงทุนและเส้นทางการดำเนินชีวิตของตนเอง คำพูดปิดท้ายของผมก็คือคำพูดเท่ ๆ อีกครั้งว่า เราต้องเลือก “ข้างที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์”INFO: http://portal.settrade.com/blog/nivate/2012/08/20/1164