------------------------------------------ ------------------------------------------------------------ trader: กันยายน 2012

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

หุ้นกับสงคราม

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เวลาผมวิเคราะห์หาหุ้นเพื่อลงทุนนั้น   ผมมักจะคิดถึงเรื่องของสงคราม  เหตุผลก็คือ   ผมต้องการหาบริษัทที่จะเติบโตไปได้ในระยะยาว  และบริษัทที่จะรุ่งเรืองเฟื่องฟูไปได้ยาวนานนั้น   จะต้องเป็นบริษัทที่  “ชนะ”  ในการแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่บริษัททำอยู่   การแข่งขัน  หรือที่ผมอยากจะเรียกให้มันใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นก็คือ  การ  “ต่อสู้”  ทางธุรกิจนั้น  มักจะมีความเข้มข้นสูงมาก  เป็นลักษณะที่  “เอาเป็นเอาตาย”  ไม่มีใครปราณีใคร   “ผู้แพ้”  นั้น  บ่อยครั้งก็ล้มหายตายจากออกจากธุรกิจไปเลย    ดังนั้น   ถ้าเปรียบเทียบไปแล้วก็คล้าย ๆ  กับการสงครามที่มีการสู้รบกันรุนแรง   ผู้ชนะจะเป็นผู้ยึดครองและได้ทรัพยากรไว้ในครอบครอง  เช่นเดียวกับบริษัทที่เป็นผู้ชนะก็จะได้ลูกค้าได้ยอดขายและทำกำไรได้มากซึ่งก็จะทำให้หุ้นมีค่ามหาศาล

          กฎของการรบและสงครามของ คาร์ล วอน คลอสวิตซ์  “บิดาแห่งการสงคราม”  นั้น   สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจได้และผมก็ใช้อยู่เสมอ  ลองมาดูกันว่าเวลาวิเคราะห์การแข่งขันของธุรกิจแต่ละอย่างผมทำอย่างไร?

          กฎข้อแรกของสงครามที่ผมจะเริ่มก็คือ   ในการรบนั้น  เราจะต้องกำหนดหรือมองดูว่า  สนามรบอยู่ที่ไหน  ใครยึดชัยภูมิไหนอยู่  อุปนิสัยของแม่ทัพแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร  เราจะต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนถึงจะรู้ว่าใครได้เปรียบและใครอยู่ในชัยภูมิที่เสียเปรียบ  และพอจะคาดได้ว่ากลยุทธ์ในการศึกจะเป็นอย่างไร  และสุดท้ายใครน่าจะเป็นฝ่ายชนะ   ในทำนองเดียวกัน  ในเรื่องของธุรกิจนั้น   ผมก็จะต้อง  “ขีดวง”  ให้ชัดเจนก่อนว่า  “สนามรบ”  อยู่ที่ไหน  นั่นก็คือ  ตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์คืออะไร   ใครเป็นลูกค้าเช่น  เป็นคนรายได้สูงหรือรายได้ต่ำ  หรือเป็นเด็กหรือเป็นผู้หญิง    หรืออยู่ในอาณาบริเวณไหน   เป็นต้น    ต่อจากนั้น  ผมก็จะมาดูว่าบริษัทไหนยึด  “ชัยภูมิ”  ไหนอยู่และชัยภูมินั้นได้เปรียบหรือเสียเปรียบ   คำว่าชัยภูมินั้น  ในทางธุรกิจก็คือ  มันอยู่ที่จุดไหน  “ในใจ” ของผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าของบริษัท    ชัยภูมิที่ได้เปรียบและแข็งแกร่งเหมือนกับอยู่บนภูเขาในสงครามก็เช่น   เป็นบริษัทที่เป็น  “อันดับหนึ่ง”  หรือสินค้าของบริษัทนั้น  “หรูที่สุด”   หรือ  บริษัทหรือร้านของบริษัทมีสินค้า  “ครบที่สุด”  ในที่เดียว  เป็นต้น

           ในการวิเคราะห์เรื่องสนามรบและการรบนั้น   เราต้องดูว่ากลยุทธ์ของแต่ละบริษัทนั้นเป็นอย่างไร   นี่ก็คือ  เราต้องดูไปถึงแม่ทัพหรือผู้บริหารว่าเขาทำอย่างไร  กลยุทธ์นั้นถูกต้องหรือไม่   เขาทุ่มเทกับการรบในสนามหลักหรือเขามักชอบที่จะ  “เปิดแนวรบใหม่ ๆ”  ไปในจุดที่เขาไม่คุ้นเคยหรือเสียเปรียบหรือไม่  ถ้าเขาทำอย่างนั้นโอกาสที่จะชนะสงครามจะมีแค่ไหน   ถ้าเราดูแล้วรู้สึกว่ากลยุทธ์เหล่านั้นไม่ถูกต้องและจะทำให้เสียหายหนัก   เราก็จะต้องระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงบริษัทนั้น    ว่าที่จริงในเรื่องของการวิเคราะห์ตัวแม่ทัพหรือผู้บริหารนั้น  ผมจะมองไปถึงเรื่องของ  “คุณธรรม”  หรือคุณสมบัติและนิสัยอีกหลายอย่าง  รวมถึงอายุและความเป็นคน  “หัวอนุรักษ์”  หรือเป็นคน  “หัวก้าวหน้า”  ด้วย   เพราะผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญต่อการที่บริษัทจะชนะหรือแพ้ในการรบหรือการต่อสู้ทางธุรกิจ

            การวิเคราะห์ว่าใครจะชนะหรือแพ้ในการรบหรือการแข่งขันทางธุรกิจนั้น  ผมจะยึดกฎของการสงครามข้อที่สองนั่นก็คือ  ในสนามรบที่เราได้ขีดวงไว้แล้วนั้น   ฝ่ายไหนมีทรัพยากรมากกว่าฝ่ายนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ  ทรัพยากรของสงครามนั้นก็คือ  กำลังทหารและอาวุธต่าง ๆ   กองทัพที่มี  “อำนาจการยิง”  ที่เหนือกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ   ดังนั้น  ในการศึกแต่ละครั้ง  แม่ทัพที่มีความสามารถก็คือคนที่สามารถทุ่มสรรพกำลังเข้าไปในสนามรบมากกว่าศัตรู   ดังนั้น  กองทัพที่ใหญ่โตแต่ไม่ได้อยู่ในสนามรบก็ไม่สามารถชนะศึกได้  กองทัพที่เล็กแต่ทุ่มกำลังเข้าไปในจุดที่สู้รบได้มากกว่ากลับเป็นฝ่ายชนะ   ถ้าจะเปรียบกับธุรกิจก็ลองนึกไปถึงบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของโลกนั้น   ถ้าจะเข้ามาแข่งขันกับร้านค้าปลีกที่ยึดทำเลและมีธุรกิจที่แข็งแกร่งในเมืองไทยก็จะเห็นภาพชัด  นั่นก็คือ  บริษัทระดับโลกนั้นไม่ได้มีทรัพยากรในท้องถิ่นไทยพอ   ดังนั้นถ้าเข้ามารบหรือมาแข่งขันก็จะแพ้ตามกฎของสงครามข้อนี้    ซึ่งประวัติศาสตร์ก็บอกเราตลอดเวลาว่า   ประเทศที่ใหญ่โตเป็นมหาอำนาจอย่างอเมริกาก็ไม่สามารถรบชนะเวียตนามในสนามรบประเทศเวียตนามได้ทั้งนี้เพราะอเมริกาไม่สามารถระดมทรัพยากรเข้าไปในป่าดงดิบได้   เช่นเดียวกัน  เราเห็นบริษัทระดับโลกที่พ่ายแพ้ต้องถอนตัวออกจากประเทศที่กำลังพัฒนามากมายทั้ง ๆ   ที่บริษัทท้องถิ่นมีขนาดที่เล็กกว่ามาก

            กฎข้อที่สองของสงครามนั้น   เรามองเฉพาะในกรณีที่  ทำเลของกองทัพแต่ละฝ่ายเสมอกันและกองทัพเข้าประจันบานกัน   แต่ในสงครามนั้นมีเรื่องของชัยภูมิและการเป็นฝ่ายรุกที่ต้องเคลื่อนไหวหรือเป็นฝ่ายตั้งรับที่สามารถตระเตรียมและยึดชัยภูมิที่ดีกว่าไว้หรือไม่   ดังนั้น  กฎข้อที่สามของสงครามก็คือ  ฝ่ายที่ตั้งรับย่อมแข็งแกร่งกว่าฝ่ายที่รุกรบ   และถ้าฝ่ายที่รุกต้องการชนะสงครามก็จะต้องใช้กำลังพลหรืออำนาจการยิงเป็นสามเท่าของฝ่ายที่ตั้งรับ   กฎข้อนี้ถ้านำมาประยุกต์กับการแข่งขันทางธุรกิจก็คือ  บริษัทที่สามารถสร้าง  “ฐาน”  ได้ในระดับหนึ่งหรือกลายเป็นผู้นำในธุรกิจหนึ่งแล้วก็จะเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่จะเข้ามาแข่งขัน   เพราะถ้าคนใหม่จะเอาชนะได้นั้น   ไม่ใช่แค่ว่าจะมีอำนาจการยิงหรือทรัพยากรที่เหนือกว่าเท่านั้น  จะต้องมีเหนือกว่าหลายเท่าถึงจะเอาชนะได้     แต่นี่ก็คงต้องมองไปถึงสนามรบด้วยว่าโดยธรรมชาติของมันเป็นสนามที่สามารถ  “ตั้งค่าย” หรือมี  “คูเมือง”  ป้องกันข้าศึกได้หรือไม่   ถ้าไม่มี  ฝ่ายรุกก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีทรัพยากรเป็นสามเท่าถึงจะเอาชนะได้  และนี่นำเรากลับไปที่กฎข้อที่หนึ่งของสงครามที่ว่าเราต้องวิเคราะห์สนามรบและชัยภูมิว่ามันเป็นป่าเขา  ลุ่มน้ำ  หรือที่ราบ

           ในสนามรบที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่นั้น   ผู้ชนะส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัย  ฝีมือและความสามารถของทหารรวมถึงกลยุทธ์ที่แม่ทัพใช้  ในบางช่วงบางตอนก็จะมีผู้ชนะที่เกรียงไกรสามารถครองพื้นที่กว้างขวาง   ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ก็อาจจะเป็นนักรบบนหลังม้าอย่างเจ็งกิสข่าน  อย่างไรก็ตาม  การรบ  “บนหลังม้า”  นั้น  พวกเขาก็ไม่สามารถยึดชัยภูมิที่ดีและสร้างป้อมค่ายที่จะป้องกันข้าศึกในอนาคตได้   ดังนั้น  ก็เป็นการยากที่กองทัพแบบนี้จะสามารถชนะต่อไปยาวนาน   ซักวันหนึ่งก็อาจจะมีคนที่เข้ามาต่อสู้และเอาชนะได้ในที่สุด   นี่ก็เปรียบเสมือนกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมบางอย่างโดยเฉพาะที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าที่ไม่สามารถสร้างความได้เปรียบในด้านของขนาด  หรือความได้เปรียบในด้านอื่น ๆ  ได้อย่างถาวรเพราะคู่แข่งสามารถเลียนแบบความสำเร็จได้  ในธุรกิจแบบนี้   ผู้ชนะก็มักจะเป็น “ผู้ชนะชั่วคราว” ราคาหุ้นที่ขึ้นไปก็มักจะเป็นการขึ้นชั่วคราว   ดังนั้น  ถ้าเราเลือกที่จะลงทุน   เราก็จะต้องรู้ว่าจะ  “ออก” เมื่อไร  มิฉะนั้น  เราอาจจะขาดทุนได้

            ประเด็นสุดท้ายก็คือ  เรื่องของธุรกิจนั้นก็เหมือนกับสงครามที่อาจจะมีผู้ชนะหลายรายเช่นเดียวกับผู้แพ้จำนวนมาก  และผู้ชนะเองก็อาจจะเป็นศัตรูหรือเป็นมิตรกันได้   ประเด็นสำคัญก็คือ  ผู้ชนะมักเป็นผู้ที่ทำลายฝ่ายผู้แพ้และอาจจะสู้กันเองด้วย  ในเรื่องของธุรกิจก็เหมือนกัน  กระบวนการแข่งขันนั้น  ผู้ที่อ่อนแอจะถูก  “กลืน”  ก่อน  จนกว่าผู้อ่อนแอจะหมด  ผู้ที่แข็งแรงและ “ชนะ”  จึงจะหันมาต่อสู้กันตรง ๆ

INFO: http://portal.settrade.com/blog/nivate/2012/09/20/1174

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

SET 1300


SET มีโอกาสขึ้นไปแตะ 1300 (19/09/2012)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยเก่าที่เป็นบวกผ่านไป ปัจจัยใหม่ที่เป็นลบกำลังจะเข้ามา ยืน 1270 จุด ยังมีโอกาสที่ตลาดปรับขึ้นทดสอบ 1300 จุด

SET ปรับขึ้นแรงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ของปีนี้ที่ระดับ 1,279 จุด เป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลกจากการขานรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) หลังประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ในระดับต่ำเป็นพิเศษ ซึ่งขยายเวลาออกไปจนถึงกลางปี 58
     ปัจจัยต่างประเทศ (-) เรามองความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ (จีน และ สหรัฐ) เป็นปัจจัยลบระยะสั้นที่ต้องจับต่างมองโดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงของชาวมุสลิมในประเทศกลุ่มอาหรับ ได้แก่ ลิเบีย เยเมน ตุนนีเซีย อียิปต์ เพื่อประท้วงภาพยนตร์ซึ่งสร้างโดยชาวอเมริกันและมีเนื้อหาดูหมิ่นศาสดาของศาสนาอิสลาม ทำให้เกิดเหตุการณ์สังหารเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯในลิเบียและเผาสถานทูตสหรัฐฯหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น หลังจากที่ชาวจีนไม่พอใจภายหลังรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจซื้อเกาะเตียวหยู หรือ เซนกากุ ที่เป็นเกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดการประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น

บล.เกียรตินาคิน





กรุงศรีมอง SET แตะ 1,300 จุด ศก.ไทยแข็งแกร่ง-บจ.กำไรดี

บลจ.กรุงศรีประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังเติบโตต่อ วางเป้าดัชนีไว้ที่ 1,300 จุด แม้ความผันผวนยังอยู่แต่เชื่อว่าจะผ่านจุดนั้นไปได้ หลังครึ่งหลังที่เหลือปัญหาหนี้ยุโรปเริ่มเบาบาง และที่สำคัญหากกรีซทำ haircut ปัญหาจะเริ่มผ่อนคลาย พร้อมเผยมีเเผนออกกองทุนหุ้นที่เน้นลงทุนใน AEC โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
      
       นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นในช่วงนี้จะมีแต่ข่าวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นเป็นปัจจัยสำคัญกระทบตลาดหุ้นยังมีอยู่ เพียงแต่มีการปล่อยพัฒนาการในการแก้ปัญหาออกมาตลอดทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไม่ลดลงไปมาก
      
       ในส่วนของตลาดหุ้นไทยก็ยังมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2554 ความผันผวนของหุ้นไทยอยู่ที่ 25% โดยดัชนีปิดตลาดเมื่อปลายปีอยู่ที่ 1,030 จุด ซึ่งดัชนีก็ไม่ต่ำกว่านั้นเลย หากเราเอาดัชนีที่ 1,030 จุดเป็นจุดต่ำสุดเราก็มองว่าจะได้เห็นดัชนีที่ 1,250-1,280 จุดท่ามกลางความผันผวนของตลาด ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นดัชนีที่ 1,300 จุดเช่นกัน ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือผ่านปัญหาหนี้ยุโรปจะเบาบางลง และหากมีการยอมให้ปรับลดมูลค่าพันธบัตรของกรีซ หรือการทำ haircut ออกไปสถานการณ์น่าจะดีขึ้น
      
       ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่คาดกันไว้ว่าจะต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 นั้นอาจจะไม่ใช่ ซึ่งอาจจะต้องมาตามในไตรมาสที่ 3 ว่าจะต่ำสุดที่เท่าไร ซึ่งอาจจะได้เห็นมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ในขณะที่ไตรมาส 4 หลายคนก็ยังมองว่าเศรษฐกิจน่าจะดีเลย์อีกจนถึง 1-2 ไตรมาสของปี 2556 โดยช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไปจึงจะมีภาพมุมมองเป็นเชิงบวก
      
       "เรายังคงมุมมองว่าตลาดหุ้นไทยอาจมีลุ้นไปที่ 1,700 จุดภายใน 1-2 ปีนี้ เพราะหุ้นไทยมีความแข็งแกร่งหากย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 2009 เรื่อยมาจนถึงปี 2012 ซึ่งสถานการณ์ต่อจากนี้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ การลงทุนจะมีมากขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็เพิ่มขึ้น การเติบโตสินเชื่อก็มีมากขึ้น เห็นได้จากธนาคารหลายแห่งเริ่มมีการขอเพิ่มทุน ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน 15% และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อได้อีก สมัยก่อนหุ้นไทยมี standard duration ประมาณ 30% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 25-26%"
      
       นายประภาสกล่าวต่อว่า สำหรับการจัดพอร์ตกองทุนหุ้นของ บลจ.กรุงศรีนั้น เราได้ถือหุ้นบริษัทขนาดเล็กที่น่าสนใจเช่นกันแต่เราก็ไม่ได้ให้น้ำหนักมากเท่าใดนัก เนื่องจากเรามองว่าสภาพคล่องของบริษัทมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนของกองทุน และที่สำคัญความเสี่ยงค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน
      
       นอกจากนี้เรามีแผนที่จะออกกองทุนหุ้น โดยเป็นการลงทุนตรงในประเทศประชาคมอาเซียน (เออีซี) ซึ่งแต่ละประเทศมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะสามารถออกกองทุนได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงปี 2558 ทั้งนี้ในแต่ละประเทศจะมีจุดแข็งของเขา ซึ่งเราจะลงทุนในหุ้นระดับท็อปของแต่ละประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็ง เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรในประเทศมาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ กลุ่มพลังงานในประเทศอินโดนีเซีย กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเกาหลีใต้
      
       อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า บลจ.กรุงศรีมีศักยภาพที่จะลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นต่างประเทศได้ โดยที่ผ่านมาในการคัดเลือกหุ้นในประเทศจะพิจารณาเปรียบเทียบกับหุ้นต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งในอดีตเรามองดูหุ้นไทยก็มองเฉพาะในมุมมองของเรา แต่ตอนนี้เราเริ่มมองดูว่าต่างประเทศเขาเป็นอย่างไร เพื่อประเมินด้วยว่านักลงทุนต่างชาติมองหุ้นไทยอย่างไร เพราะเขามีตัวเลือกลงทุนมากกว่าแค่หุ้นในประเทศไทย

บลจ.กรุงศรี

NEP เล่นสั้น 0.90 - 1.00


NEP เล่นสั้น (19/09/2012)
แนวรับ 0.90
แนวต้าน 1.00

เล่นอยู่ในกรอบ 0.92 ถึง 0.96 กำลังดี

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

เฟดงัด QE3 กระตุ้นเศรษฐกิจอันย่ำแย่

เอเอฟพี - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วานนี้ (13) ลงมือกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ ด้วยการออกมาตรการ QE3 ประกาศซื้อพันธบัตรรอบใหม่วงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยมีเป้าหมายหั่นอัตราดอกเบี้ยระยะยาว พร้อมกันนั้นยังปรับลดประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2012 ของประเทศลง
      
       เฟด ยังส่งสัญญาณด้วยว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินนี้จะนำมาใช้จนกว่าพบเห็นทิศ ทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างในตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่เวลานี้ตัวเลขคนว่างงานยังสูงถึงร้อยละ 8.1
      
       ในถ้อยแถลง เฟดชี้ให้เห็นถึงการเติบโตที่อ่อนแอของเศรษฐกิจและความเฉื่อยชาในตลาดงาน ดังนั้นจึงจะอัดฉีดเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์ ในตราสารหนี้ประเภทที่มีหลักทรัพย์จำนองค้ำประกันในแต่ละเดือน ในปฏิบัติการแบบเปิดที่มีเป้าหมายสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัยพ์อันร่อแร่
      
       ถ้อยแถลงของเฟดระบุว่า มาตรการเเหล่านี้จะช่วยลดความกดดันต่อดอกเบี้ยระยะยาว สนับสนุนตลาดสินเชื่อและช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินให้ผ่อนคลายมากยิ่ง ขึ้น
      
       นอกจากนี้แล้ว คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee : FOMC) ยังขยายมาตรการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเฉียดร้อยละศูนย์ไปจนถึง ช่วงกลางปี 2015 ยาวนานกว่าเคยประกาศก่อนหน้านี้กว่า 6 เดือน
      
       “ถ้าแนวโน้มตลาดแรงงานยังไม่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง คณะกรรมการกำหนดนโยบาย ก็จะดำเนินการเข้าซื้อตราสารหนี้ประเภทที่มีหลักทรัพย์จำนองค้ำประกันต่อไป รวมถึงอาจเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมและใช้เครื่องมือทางนโยบายอื่นๆ ตามสมควร จนกระทั่งจะบรรลุเป้าหมาย พบเห็นเสถียรภาพด้านราคาดีขึ้นอย่างชัดเจน”
      
       ส่วน นายเบน เบอร์นันกี ประธานเฟดบอกกับผู้สื่อข่าวว่าสถานการณ์การจ้างงานของประเทศยังคงน่ากังวล อย่างยิ่ง พร้อมระบุว่า “ตลาดงานที่อ่อนแอ ได้สร้างความวิตกแก่อเมริกันชนทุกคน”
      
       คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศยังคงขยายตัวเล็กน้อย ทว่าอัตราการลงทุนในภาคธุรกิจเฉื่อยชาลงเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นยังได้ปรับลดอัตราการเติบโตในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 1.7-2.0 จากเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้ที่ 1.9-2.4 แม้จะคาดหมายว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวถึงร้อยละ 2.5-3.0 ในปี 2013
      
       คำแถลงของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินยังแสดงความกังวลด้วยว่า หากปราศจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม เศรษฐกิจอาจไม่เติบโตเพียงพอที่จะช่วยให้สภาพของตลาดแรงงานดีขึ้นอย่างเป็น เนื้อเป็นหนัง และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ยังอ่อนแอเกินไปที่จะรับมือกับวิกฤตการเงินโลกที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน
      
       อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน คาดหมายว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯจะยังคงอยู่ในความควบคุม โดยอยู่ในระดับหรือต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.0 ที่เฟดวางเอาไว้
      
       ด้านผู้เชี่ยวชาญไม่รู้สึกประหลาดใจต่อความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเฟด โดยเฉพาะหากวิเคราห์ตามอัตราและรายละเอียดการเติบโตทางเศษฐกิจของสหรัฐฯ “เจ้าหน้าที่ของเฟดหลายคน อยากจะลงมือตอนนี้เพื่อซื้อความอุ่นใจต่อภาวะถดถอยเพิ่มเติม” ฮาร์ม บันด์โฮล์ซ จากยูนิเครดิตระบุ กระนั้นเขาบอกว่ามาตรการใหม่นี้อาจไม่ก่อผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากภายนอกทั้งยุโรปและจีน รวมถึงการเจรจาเกี่ยวกับตัดลบงบประมาณที่ยังไร้ทางออกระหว่างเดโมแครตกับรี พับลิกัน

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

PJW นิ่ง! หลังทรุดหนักวานนี้ ลุ้นประมูลงาน ESSO ในจีน เป้า 7.24 บ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW ล่าสุด ณ เวลา 16.14 น.อยู่ที่ 5.20 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 42.73 ล้านบาท ทั้งนี้ ราคาหุ้น PJW ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากระดับราคาต่ำกว่า 4 บาทเมื่อกลางเดือนก.ค. และปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 5.55 บาทเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมาหรือปรับตัวขึ้นมากกว่า 39% ในช่วง 2 เดือนกว่า และปรับตัวลงแรงวานนี้ (10 ก.ย.)
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลประกอบการ PJW ได้ประโยชน์จากการขยายตัวโดดเด่นของตลาดยานยนต์ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกในยานยนต์ (15% ของรายได้) และเมื่อยอดขายรถยนต์ในปีนี้จะทำรายได้ราว 1.15 ล้านคัน ย่อมสร้างอุปสงค์ในน้ำมันหล่อลื่นเติบโตต่อเนื่องในระยะยาวเป็นบวกต่อธุรกิจบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น (59%) ราคาหุ้นนับตั้งแต่ IPO เดือน ก.พ. 2555 ถึงวานนี้ปรับขึ้นเพียง 37% ขณะที่ราคาหุ้นอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 60% YTD นอกจากนี้ในปี 2556 PJW ได้ขยายกำลังการผลิตอีก 30% ในส่วนของชิ้นส่วนรถยนต์พร้อมกับโอกาสได้รับงานจากการประมูลผลิตบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นให้กับ ESSO ในจีน เป็น Upside เพิ่มเติมในอนาคต แนะนำ ซื้อเก็งกำไร ราคาเป้าหมายแบบอนุรักษ์นิยมที่ 7.24 บาท

INTUCH ระบุสนใจประมูลทีวีดิจิตอล 3 ช่อง ในปี 56 คาดใช้เงิน 2 พันลบ. ขณะที่ยื่นขอประมูล3G กับ กสทช. ไป 3 บริษัท

นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหารและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ INTUCH เปิดเผยว่าบริษัทฯ สนใจเข้าประมูลทีวีดิจิตอล 3 ช่องในปี 2556 จากที่จะเปิดทั้งหมด 50 ช่อง โดยคาดว่าจะต้องใช้เงินสำหรับค่
าใบอนุญาตประมาณ 2 พันล้านบาท โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทำวิจัย เพื่อศึกษาความเหมาะสม คาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายปีนี้

สำหรับการเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้กี่บริษัทในการยื่นประมูล แต่ได้ขออนุญาตคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ไป 3 บริษัท เพื่อเตรียมความพร้อมในการประมูลครั้งนี้

" หากมี 3G ก็จะทำให้การใช้ดาต้าเติบโตมากขึ้น และยังช่วยเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต เนื่องจากมีการจ้างงานมากขึ้นและรัฐบาลก็จะได้ประโยชน์จากรายได้ภาษีนิติบุคคล ภาษีบุคคล รวมถึงรายได้จากการประมูลครั้งนี้ด้วย" นายสมประสงค์ กล่าว 

ทั้งนี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) กำหนดวันเปิดประมูลใบอนุญาต 3G คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์(GHz) ในวันที่ 16-18 ต.ค.นี้ และคาดว่าจะออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูลได้ในเดือนพ.ย.นี้

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

"อนันต์ กาญจนพาสน์" เก็บหุ้น BLAND 0.281% รวมถือ 20.14%

   "อนันต์ กาญจนพาสน์" เก็บหุ้น BLAND 0.281% รวมถือ 20.14%
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค.
55)--สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เปิดเผยว่า
ก.ล.ต.รายงานการได้มาหุ้นของ บมจ.บางกอกแลนด์(BLAND) โดยนายอนันต์
กาญจนพาสน์ ซึ่งเป็นการได้มาเมื่อวันที่ 19/07/2555
จำนวนหลักทรัพย์ที่ได้มาคิดเป็น  0.281%
ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มาคิดเป็น
 20.1437% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
       
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/ศศิธร โทร.02-2535000 ต่อ 345 อีเมล์:
sasithorn@infoquest.co.th--

ARIP - บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน)


11/09/2012 

ARIP - บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน)  http://www.aripplc.com/

แรงทดสอบ 1.38-1.40
พักตัวมาอยู่ที่แถวรับ มีโอกาสดีดกลับ

แนวรับ 1.30-1.26
แนวต้าน 1.35, 1.40, 1.45, 1.50

ข่าววันนี้ 11-09-2012


หุ้นไทยวานนี้ปิดบวก 4.83 จุด หรือ 0.39% มาปิดระดับ 1,250.93 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 28,045.95 ล้านบาท

- นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ +452.34 ล้านบาท
- บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ +15.42 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ +850.06 ล้านบาท
- นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ -1,317.82 ล้านบาท

นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้จัดการสายงานวิจัย ลูกค้าบุคคล บล.บัวหลวง บอกในรายการหุ้นโค้งสุดท้ายว่า หุ้นไทยวานนี้เริ่มอ่อนตัวในช่วงการซื้อขายภาคบ่าย หลังตลาดหุ้นยุโรปเปิดลบ จากข่าวลบเมื่อวันศุกร์กรณีอิตาลีส่งสัญญาณไม่เข้าโครงการ Bond buying ของ ECB ขณะที่ตลาดฯให้ความสนใจกับการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ซึ่งผลสำรวจส่วนใหญ่มีความเชื่อมากขึ้นว่าในการประชุม 12-13 ก.ย.นี้ เฟดจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้น้ำหนักเพิ่มเป็น 60%จากเดิม 45%

แต่อย่างไรก็ตาม จากอดีตที่ผ่านมาก่อนที่เฟดจะประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าว และเมื่อรับรู้ข่าวแล้วตลาดฯจะปรับฐานประมาณ 10% ซึ่งมองว่ารอบนี้ตลาดซื้อเก็งกำไรมาพอสมควร ถ้ามีการประกาศออก QE3 จริง เชื่อว่าครั้งนี้น่าจะรับข่าว แต่สุดท้ายแล้วตลาดฯจะปรับตัวลดลงหลังจากนั้น อีกทั้งมองว่าเม็ดเงินที่ทำ QE3 น่าจะน้อยกว่ารอบ 2

ทั้งนี้แม้ว่าจะมี QE3 หรือ ไม่มี QE3 ก็น่าขาย เพราะมองตลาดฯเองน่าจะปรับฐานได้ ในกรณีที่รับรู้ข่าวจริง ขณะที่ P/E เทรดอยู่ที่กว่า 13 เท่า ใกล้เคียงสูงสุดที่ 14 เท่า ทำให้เริ่มมี Upside จำกัดและมีโอกาสปรับตัวลดลงได้

นายวิกิจ บอกอีกว่า ประเด็นที่ต้องติดตามสัปดาห์นี้ คือ ฝั่งยุโรปว่าเยอรมนีผ่านร่าง กฎหมาย ESM หรือไม่ และผลประชุม EU Committee

จากการรวบรวมของ Money Channel บริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ให้กรอบการลงทุนทางด้านเทคนิคและหุ้นแนะนำในวันนี้ดังนี้

บล.ซีไอเอ็มบี(ไทย) ให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ 1,250-1,270จุด แนะลงทุนหุ้น SCB

บล.คันทรี่ กรุ๊ป ให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ 1,245-1,260 จุด แนะลงทุนหุ้น BIGC/TOG

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ 1,240-1,260 จุด แนะลงทุนหุ้น AP

บล.ไอร่า ให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ 1,247-1,280 จุด แนะลงทุนหุ้น TCAP-IRPC

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ 1,240-1,258(1,260) จุด แนะลงทุนหุ้น BIGC