วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าของแวนโก๊ะ อย่ามองข้ามคุณค่า

 โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh) เป็นจิตรกรชาวดัตช์ ยุคโพสต์อิมเพรสชั่นนิสต์ ภาพที่เขาวาดเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีความ “สวยงามแบบดิบๆ” แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา และใช้ “สี” ได้อย่างโดดเด่น มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อแวดวงศิลปะในศตวรรษที่ 20

หากจะเปรียบกับการลงทุนในหุ้นแล้ว ภาพวาดของ แวน โก๊ะ เปรียบเสมือน “หุ้นคุณค่าชั้นดี” ที่ตลาดไม่เคย “พบมูลค่า” ของมัน ตลอดเวลาที่เขายังมีลมหายใจ

ดังนั้น แม้ฝีมือจะเป็นเอกอุของโลก (โดยที่ตัวเขาเองอาจไม่ทราบ) แวน โก๊ะ กลับต้องเผชิญแต่ความยากจนข้นแค้น เป็นศิลปินไส้แห้งตลอดชีวิต  ก่อนตัดสินใจปลิดชีพตัวเองด้วยการยิงตัวตายในวันที่ 29 ก.ค. 1890 ขณะอายุเพียง 37 ปี

“ความมั่งคั่ง” ที่ผลงานของ แวน โก๊ะ ก่อให้เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วกลับตกอยู่ในมือของคนอื่นโดยที่ตัวเขาเองไม่เคยได้สัมผัสมันเลย

เรื่องราวของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ (ขอเรียกว่า แวน โก๊ะ) ตลอดจนผลงานและความรู้สึกนึกคิดของเขา เป็นที่รับรู้ของคนยุคต่อมา ผ่านจดหมายที่เขาเขียนติดต่อกับ ธีโอ แวน โก๊ะ (Theo Van Gogh) น้องชาย (ขอเรียกว่าธีโอ) ซึ่งมีอาชีพเป็นดีลเลอร์ขายงานศิลปะ

ธีโอเป็นคนเดียวที่ให้การสนับสนุนแวน โก๊ะ ทั้งด้านการเงิน และคอยให้กำลังใจพี่ชายด้วยความปรารถนาดีอยู่ตลอดเวลา

ในปี 1888 ระหว่างที่แวน โก๊ะประสบปัญหาทางการเงินอยู่นั้น ธีโอ ได้รับมรดกมาเป็นเงินจำนวนหนึ่ง เขาจึงแบ่งเงินจำนวนนี้เพื่อช่วยเหลือพี่ชายที่กำลังตกยาก

นอกจากนี้ ด้วยคำขอของ แวน โก๊ะ ธีโอได้แบ่งเงินอีกส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือ พอล โกแกง (Paul Gau guin) เพื่อนจิตรกรคนสนิทของ แวน โก๊ะ โดยธีโอจ่ายเงินให้โกแกงเพื่อแลกกับภาพเขียนของเขาจำนวน 12 ภาพต่อปี หรือพูดง่ายๆ ก็คือจ่าย “เงินเดือน” ให้กับโกแกง โดยจ้างให้วาดภาพให้เดือนละภาพนั่นเอง

 ต่อมา ธีโอได้แนะนำให้แวน โก๊ะและโกแกงย้ายมาอยู่ด้วยกัน เพื่อที่จะได้ช่วยกันแชร์ค่าใช้จ่าย ซึ่งแวน โก๊ะและโกแกงก็ทำตาม

เมื่อมาอยู่ร่วมกัน แวน โก๊ะกับโกแกงเริ่มมีเรื่องระหองระแหงบ่อยครั้งตามประสาลิ้นกับฟัน ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ แวน โก๊ะเริ่มมีอาการทางจิต ซึ่งทำให้เขาทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ การที่แวน โก๊ะตระหนักว่าความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างเขากับโกแกง คงทำให้ความฝันที่จะได้เปิดสตูดิโอร่วมกับเพื่อนรักคนนี้เลือนรางเต็มทน ก็ยิ่งทำให้เขาเป็นทุกข์ขึ้นไปอีก

ในปี 1888 ท่ามกลางความสับสน ว้าเหว่ จนกลายเป็นซึมเศร้านี้เอง แวน โก๊ะได้วาดภาพขึ้นมาสองภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพที่ชื่อว่า “เก้าอี้ของแวน โก๊ะ” (Van Gogh’s Chair) บนเก้าอี้นั้นมีไปป์และยาเส้นของเขาวางอยู่

ว่ากันว่าเก้าอี้ตัวนี้มีสัญญะบ่งถึงตัวตนที่แท้จริงของ แวน โก๊ะ โดยมันได้ถอดเอาภาวะอารมณ์ของเขาในเวลานั้นออกมา ทำให้เป็นเก้าอี้ที่ดูแตกต่างและมีเอกลักษณ์อย่างยิ่ง ก่อนจะกลายเป็นภาพเขียนที่โด่งดังไปทั่วโลก




อีกภาพหนึ่งที่แวน โก๊ะวาดในเวลาไล่เลี่ยกัน คือภาพ “เก้าอี้ของโกแกง” (Gauguin’s Chair) เก้าอี้ตัวนี้ต่างจากตัวแรกตรงที่ดูหรูหรามีระดับกว่า ไม่เหมือนเก้าอี้ของแวน โก๊ะที่ดูเรียบง่าย

เก้าอี้ของโกแกง เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีที่เท้าแขน บนที่นั่งมีหนังสือและเทียนที่จุดแล้ววางอยู่ โดยแวน โก๊ะได้ใช้ภาพนี้เป็นสัญลักษณ์แทนตัวของโกแกง

ทว่ายังไม่ทันที่จะวาดเสร็จ อาการทางประสาทของ แวน โก๊ะ ก็กำเริบอย่างรุนแรงจนไม่สามารถทำงานต่อได้ อย่างไรก็ตาม เมื่ออาการทุเลาลงแล้ว เขาก็ได้กลับมาวาดรูปเก้าอี้ของตัวเองจนสมบูรณ์ แต่ภาพเก้าอี้ของโกแกงนั้นถูกทิ้งไว้ โดย แวน โก๊ะ ไม่ได้กลับมาวาดต่ออีกเลย ตราบจนวันที่เขาตาย

เรื่องราวของ แวน โก๊ะ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับทุกคน ว่าในโลกนี้ ยังมี “มูลค่า” ซุกซ่อนอยู่เสมอ เราจึงไม่ควรมองข้ามสิ่งใกล้ๆ ตัว หรืออะไรก็ตามที่เราเห็นเพียงผ่านๆ มิเช่นนั้นอาจพลาดโอกาสงามๆ ไป

ในทางตรงกันข้าม หากเรากำลังทำงานที่มีคุณค่า แต่คนอื่นมองไม่เห็นความงดงามของมัน ก็ขอจงมุ่งมั่นศรัทธา ตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไปอย่าล้มเลิก

ไม่แน่ว่าสักวัน ตลาดอาจ “ค้นพบ” และทำให้มันกลายเป็น “คุณค่าอันยิ่งใหญ่” เกินกว่าที่เราเคยคิดฝันก็เป็นได้


ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ “[The World's Greatest Art] Van Gogh”, หนังสือ “ธีโอน้องรัก: จดหมายจาก วินเซนต์ แวน โกะ”, เว็บไซต์ wikipedia






INFO: http://clubvi.com/2012/12/15/van-gogh/