วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

รายงานสรุปและวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน


สหรัฐอเมริกา

ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนตุลาคมปรับลดลง 0.2% (m-o-m) โดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน จากราคารถยนต์และราคาพลังงานที่อ่อนแรงลง ซึ่งราคาพลังงานปรับตัวลง 0.5% ซึ่งส่งผลให้ดัชนี PPI ทั่วไป อ่อนแรงลงเป็นครั้งแรกนับแต่เดือนพฤษภาคม โดยราคาค้าส่งน้ำมันเบนซินร่วงลง 2.2% ในเดือนที่แล้ว ขณะที่ราคารถยนต์โดยสารก็ร่วงลงอย่างหนัก 1.6% แต่ราคาอาหารยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 0.4% ในเดือนดังกล่าว ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวน ก็ปรับลดลง 0.2% ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งแรกเมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ทั้งนี้ หากเทียบรายปี ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 2.3% ซึ่งสูงสุดนับแต่เดือนมีนาคม ขณะที่ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับขึ้น 2.1%

ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมปรับตัวลดลงเกินคาด 0.3% จากที่ขยายตัว 1.3% ในเดือนกันยายน (ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้รับการทบทวน) ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์โดย consensus ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลง 0.2% จากผลกระทบของพายุเฮอริเคนแซนดี้ที่พัดถล่มแถบอีสต์โคสต์ของสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ซึ่งได้ส่งผลให้ร้านต้องปิดให้บริการ แต่ขณะเดียวกัน เฮอริเคนแซนดี้ก็ส่งผลในแง่บวกต่อข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐเช่นกัน โดยร้านค้าปลีกบางแห่งมียอดขายเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคแห่ซื้อสินค้าจำพวกอาหารและเชื้อเพลิงเพื่อกักตุนไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ทั้งนี้ อัตราการจับจ่ายซื้อสินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ในการทำสวนลดลง 1.9% การซื้อสินค้าในกลุ่มยานยนต์และอะไหล่ยนต์ตกลง 1.5% ซึ่งเป็นระดับที่ร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 1 ปี แต่ยอดขายที่สถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.4% และร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 0.8% ขณะที่หากไม่รวมน้ำมันเบนซิน ยอดค้าปลีกตกลง 0.5% ในเดือนที่แล้ว

สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจในเดือนกันายนเพิ่มขึ้น 0.7% สู่ระดับ 1.61 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนสิงหาคม มากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5%

ยุโรป: สหภาพยุโรป

สำนักงานสถิติแห่งชาติของยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีการปรับตามฤดูกาลใน 17 ประเทศสมาชิกของยูโรโซนในเดือนกันยายนปรับตัวลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สำหรับผลผลิตอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีสมาชิก 27 ประเทศปรับตัวลดลง 2.3% ขณะเดียวกันผลผลิตสินค้าคงทนในยูโรโซนลดลง 4.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ส่วนผลผลิตสินค้าคงทนในอียูทรุดตัวลง 3.7% ขณะที่ผลผลิตสินค้าทุนเพิ่มขึ้น 3.0% ในยูโรโซนและ 2.6% ในอียู ด้านผลผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในยูโรโซนลดลง 2.8% ส่วนในอียูลดลง 2.1% ขณะที่ผลผลิตสินค้าขั้นกลาง ลดลง 2.0% และ 1.7% ตามลำดับ ส่วนผลผลิตพลังงานตกลง 1.8% ในยูโรโซนและร่วงลง 2.6% ในกลุ่มประเทศอียู ทั้งนี้ ไอร์แลนด์มีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ดิ่งลงหนักสุดถึง 12.6% ขณะที่เอสโทเนียมีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นสูงสุด 2%

เยอรมนี

ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนเยอรมนีที่จัดทำโดย ZEW ในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ -15.7 จากระดับ -11.5 ในเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นการลดลงเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤตหนี้ในภูมิภาคที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคความเชื่อมั่นของนักลงทุนเยอรมนีร่วงลง

ฝรั่งเศส

ธนาคารกลางฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของฝรั่งเศสในเดือนกันยายนลดลงแตะ 3.3 พันล้านยูโร เทียบกับสถิติ 3.6 พันล้านยูโรในเดือนสิงหาคม โดยยอดขาดดุลการค้าลดลงมาอยู่ที่ 5 พันล้านยูโร จาก 5.5 พันล้านยูโรในเดือนก่อน ขณะที่ภาคบริการยังคงเกินดุลที่ 2.2 พันล้านยูโรในเดือนกันยายน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนสิงหาคม

สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (Insee) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ฝรั่งเศสในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 0.2% (m-o-m) และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปีที่แล้วขยายตัว 1.9% (y-o-y) ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นของราคายาสูบ ทั้งนี้ หากไม่รวมราคายาสูบ ดัชนี CPI ของฝรั่งเศสจะเพิ่มขึ้น 0.1%

อังกฤษ

สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เผยอัตราเงินเฟ้อรายปีของอังกฤษในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 2.7% (y-o-y) หลังจากเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่เดือนพฤษภาคม และหากเทียบรายเดือนราคาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.5% (m-o-m) อันเป็นผลจากการได้รับแรงผลักดันจากค่าเทอมมหาวิทยาลัยและราคาอาหารที่สูงกว่าปีก่อน โดยมหาวิทยาลัยต่างๆได้ปรับขึ้นอัตราค่าเทอมรายปีสูงสุด ขณะที่ราคาอาหารก็สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายในอังกฤษ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยอัตราว่างงานในอังกฤษในไตรมาส 3/2555 ลดลงสู่ระดับ 7.8% จากระดับ 8.0% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ และ 8.2% ในปีที่แล้ว โดยจำนวนคนตกงานในระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย. อยู่ที่ระดับ 2.51 ล้านคน ลดลง 49,000 คนจากช่วงเดือนเม.ย-มิ.ย. และลด
ลง 110,000 คนจากปีก่อนหน้านี้

อิตาลี

สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (Istat) เผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อิตาลีเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 2.6% (y-o-y) จากช่วงเดียกวันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลเบื้องต้น ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานอยู่ที่ระดับ 1.5% (y-o-y) จากที่ขยายตัว 1.9% ในเดือนกันยายน อันเป็นผลมาจากการปรับตัวลงของราคาในภาคสื่อสารและภาคขนส่ง โดยราคาในภาคสื่อสารของอิตาลีลดลง 1.8% (m-o-m) เทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี หดตัวลง 2.4% (y-o-y) ขณะที่ภาคขนส่งปรับลง 0.4% (m-o-m)

ธนาคารกลางอิตาลีรายงานว่า ยอดหนี้สาธารณะของอิตาลีพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงแม้จะมีความพยายามผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเงินในระยะนี้ โดยยอดหนี้สาธารณะในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.995 ล้านล้านยูโร (2.536 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจาก 1.95 หมื่นล้านยูโรในเดือนสิงหาคม แม้ว่ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ จะปรับขึ้นอัตราภาษีและลดสวัสดิการสังคมลงหลายครั้ง ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 2.6% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สเปน

สำนักงานสถิติแห่งชาติของสเปน (INE) รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อรายปีของสเปนในเดือนตุลาคมขยายตัว 3.5% (y-o-y) จาก 3.4% ในเดือนกันยายน และหากเทียบรายเดือน เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งนับเป็นอัตราสูงสุดนับแต่เดือนพฤษภาคม 2554 อันเป็นผลมาจากการปรับขึ้นราคาในด้านการศึกษา, บริการด้านสุขภาพส่วนบุคคล, ความบันเทิงและวัฒนธรรม, อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีการขายจาก 18% เป็น 21% ในเดือนกันยายน แต่ราคาด้านขนส่งร่วงลง 6.5% อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง นับแต่มีการปรับขึ้น
ภาษีการขายในสเปนในเดือนกันยายน

กรีซ

หลังจากที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรกรุ๊ปไม่สามารถหาข้อสรุปในการให้ความช่วยเหลือกรีซ โดยรัฐมนตรีคลังของกลุ่มยูโรกรุ๊ปตัดสินใจให้เวลากรีซ 2 ปีในการปรับลดงบประมาณ พร้อมกับเลื่อนการตัดสินใจเรื่องการให้ความช่วยเหลือกรีซเพิ่มเติมอีก 3.15 หมื่นล้านยูโรออกไปเป็นสัปดาห์หน้า ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซอาจจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในยูโรโซน

กรีซได้พยายามระดมทุนเพื่อที่จะนำมารีไฟแนนซ์ตั๋วเงินคลังที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายนนี้ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดการหนี้สาธารณะของกรีซ (PDMA) คาดว่า จะมีการระดมทุนได้จำนวนทั้งสิ้น 5 พันล้านยูโรภายในวันนี้ (15 พ.ย.) หลังจากที่ PDMA ประมูลขายตั๋วเงินคลังอายุ 1 เดือนได้ 2.762 พันล้านยูโร ที่อัตราผลตอบแทน 3.95% และตั๋วเงินคลังอายุ 3 เดือนได้ 1.3 พันล้านยูโร ที่อัตราผลตอบแทน 4.2% โดยคิดเป็นการระดมเงินได้
ทั้งสิ้น 4.062 พันล้านยูโร

กรีซยังคงรอการเบิกจ่ายเงินงวดช่วยเหลือวงเงิน 3.15 หมื่นล้านยูโรจากบรรดาเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ ซึ่งเกินกำหนดมา 5 เดือนแล้ว อันเนื่องมาจาการเลือกตั้งทั่วไปของกรีซในเดือนมิถุนายน ขณะที่นายอันโตนิส ซามาราส นายกรัฐมนตรีกรีซระบุว่าเงินสดสำรองของกรีซจะหมดลงในวันที่ 16 พฤศจิกายน

เอเชีย: เกาหลีใต้

สำนักงานสถิติเกาหลีใต้เปิดเผยว่าอัตราว่างงานของเกาหลีใต้ปรับตัวลงแตะ 2.8% ในเดือนตุลาคม จากการสร้างงานที่แข็งแกร่งในภาคการผลิต โดยรายงานระบุว่าอัตราว่างงานในเดือนตุลาคมลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า หลังการแตะระดับสูงสุดที่ 4.2% ในเดือนกุมภาพันธ์

สำนักงานศุลกากรของเกาหลีใต้เปิดเผยว่าการส่งออกของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.7% ในช่วงเดียวกัน

ออสเตรเลีย

ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยเวสต์แพค แบงกิ้ง คอร์ป และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมประยุกต์เมลเบิร์นระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของออสเตรเลียเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 5.2% แตะที่ระดับ 104.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 จากระดับ 99.2 ของเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ดัชนีที่เคลื่อนไหวสูงกว่าระดับ 100 จุดแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคที่มีมุมมองในด้านบวกต่อเศรษฐกิจมีมากกว่าผู้ที่มีมุมมองในด้านลบ โดยบิล อีแวนส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเวสต์แพคกล่าวว่า ผลการสำรวจในเดือนพฤศจิกายนออกมาแข็งแกร่งอย่างน่าประหลาดใจ โดยดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2554 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และจากการที่ธนาคารกลางออสเตรเลียปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ผลการสำรวจบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจออสเตรเลียในช่วง 12 เดือนข้างหน้าและ 5 ปีข้างหน้า

ไทย

ธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย ระบุเตรียมออกรายงานประจำปีในกลางเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ปีนี้ของไทย หลังพบว่าการบริโภคขยายตัวได้ดีกว่าคาด โดยมองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ในระดับ 4.7% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 4.5% ส่วนปี 56 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 5% โดยการส่งออกคาดว่าจะโต 10-12% ซึ่งพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปลายปี 54 ขณะที่ภาคการส่งออกและการบริโภคมีสัญญาณการขยายตัวดีขึ้น นอกจากนี้การลงทุนในภาครัฐยังมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3% โดยราคาน้ำมันและราคาสินค้าคงจะปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก พร้อมระบุปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยคือ เรื่องความไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหาของกลุ่มยูโรโซน ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศนั้น หากมีการชุมนุมในพื้นที่จำกัด ไม่ยืดเยื้ออาจกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายใหม่บ้าง

อื่นๆ

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยในเดือนตุลาคมของ OPEC ร่วงลงสู่ระดับ 105.47 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในเดือนที่แล้ว โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติตต่อกัน และยังเป็นระดับต่ำสุดของราคารายเดือนของ OPEC ในรอบ 4 เดือนด้วย หลังได้รับผลกระทบจากการคาดการณ์เกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนแรง อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะใกล้ที่ชะลอลง

-    บาท/ดอลลาร์ เมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินบาทในช่วงเช้าวันนี้ อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเซียโดยรวมในเช้าวันนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯไม่มีทิศทางที่ชัดเจน โดยวันนี้มีแรงขายเงินเยนออกมามากเนื่องจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอาจจะยุบสภาในวันศุกร์นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ค่าเงินบาทอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงตลาดสหรัฐฯ

- เยน/ดอลลาร์ เมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ค่าเงินเยนอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ โดยในวันนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายโยชิฮิโกะ โนดะกล่าวว่าเขาอาจจะยุบสภาผู้แทนราษฏรในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งชี้ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนหน้า โดยนักลงทุนจำนวนมากในตลาดเชื่อว่าการเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งจะดำเนินการเชิงรุกมากขึ้นในการกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น

-    ยูโร/ดอลลาร์ เมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ค่าเงินยูโรแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ อย่างไรก็ดีการแข็งขึ้นของค่าเงินยูโรก็ถูกจำกัดจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนล่าสุดของ euro-area จะลดลง ซึ่งเพิ่มหลักฐานที่ชี้ว่าวิกฤติหนี้ภูมิภาคส่งผลลบอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

-    ตลาดสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ตลาดหุ้นสหรัฐปิดร่วงลงในวันพุธ โดยดัชนี S&P 500 ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมอันเป็นผลจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาเรื่องงบประมาณของสหรัฐฯ และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วง 1.45% , ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 1.39% และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวลง 1.29% ประธานาธิบดีบารัค โอบามายืนยันถึงจุดยืนของเขาในการปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อจัดการกับการขาดดุลงบประมาณของประเทศ

-    ตลาดหุ้นเอเชีย เมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.04% ในวันนี้ โดยหุ้นในกลุ่มพลังงานมีราคาลดลงจากการที่ราคาน้ำมันต่ำลง ขณะที่หุ้นของ Sharp Corp มีราคาเพิ่มขึ้นมากจากการที่ Kyodo News รายงานว่า Intel Corp จะเข้ามาลงทุนในบริษัทเป็นมูลค่าประมาณ 40 พันล้านเยน ( 503 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ) สำหรับดัชนีตลาดหุ้นจีนวันนี้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเช้าจากการที่การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนใกล้ที่จะจบลงหลังจากประชุมกันมาประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ในวันพฤหัสจะมีการเลือกสมาชิกของ Politburo Standing Committee ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าการประชุมพรรคที่จะเสร็จสิ้นลงจะช่วยลดความไม่แน่นอนต่างๆลงและทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยปิดตลาดวันนี้ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเพิ่มขึ้น 0.37% ส่วนดัชนีฮั่งเส็งวันนี้ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 1.20%

-    ตลาดหุ้นไทย เมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเปิดตลาดก่อนที่จะลดลงมาและเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆตลอดช่วงเช้าวันนี้ ทั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่าขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใหม่กระตุ้นตลาด อย่างไรก็ดีในช่วงบ่ายดัชนีฯปรับลดลง ส่งผลให้ปิดตลาดวันนี้ SET INDEX ลดลง 9.78 จุด


INFO: สำนักวิจัย ซีไอเอ็มบี ไทย