วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ภาพรวมเศรษฐกิจปลายปี 2012 และปี 2013



  ภาพรวมเศรษฐกิจปลายปี 2012 และปี 2013

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ 5.3% ในปี 2012 และ 4.6% ในปี 2013 ซึ่งต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เดิมเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากกว่าที่คาดไว้ และทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ ดังนั้น แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อจากนี้ไปจะมาจากการใช้จ่ายในประเทศ โดยจะเป็นการบริโภคภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นหลัก การขยายตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะยังไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.3% ในปี 2013 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ซึ่งทำให้การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมสามารถทำได้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับลดลงอีก และน่าจะอยู่ที่ 2.25% ณ สิ้นปี 2013 เพื่อช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ และยังช่วยลดแรงกดดันจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศบนค่าเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยนในปี 2013 จึงน่าจะแกว่งตัวใกล้เคียงระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ...


  Bull - Bear: ราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4 ปี 2012 และแนวโน้มปี 2013 ค่อนข้างทรงตัว เพราะอุปสงค์และอุปทานน้ำมันยังอยู่ในระดับที่สมดุล อีกทั้งกลุ่ม OPEC ออกมาประกาศว่า ต้องการให้ราคาน้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ระดับประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองที่อาจทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ยังมีความเป็นไปได้ต่ำ เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ยังไม่มีแนวโน้มขยายวงกว้างไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นใน OPEC...


  In focus
      U.S. Fiscal Cliff ผลกระทบทางเศรษฐกิจและโอกาสความเป็นไปได้

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายรู้สึกเป็นห่วงและหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์กันค่อนข้างมากในขณะนี้ ก็คือ "โอกาสที่สหรัฐฯ จะพบกับการหดตัวอย่างรุนแรงของอุปสงค์จากนโยบายการคลัง หรือที่เรียกกันว่า Fiscal Cliff" ความเสี่ยง Fiscal Cliff นี้เกิดจากนโยบายการขึ้นภาษี และการลดรายจ่ายภาครัฐที่จะเริ่มมีผลในปี 2013 ทางหน่วยงานของสหรัฐฯ (CBO) ได้ประมาณการการหดตัว อันเนื่องมาจากแรงขับเคลื่อนทางการคลังนี้ว่าจะมีขนาดสูงถึง 5% ของ GDP และจะผลักให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะปล่อยให้เศรษฐกิจเข้าสู่ Fiscal Cliff อย่างถาวร แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายยังมีความรู้สึกกังวลเพราะหากความเสี่ยงนี้เป็นจริง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯจะค่อนข้างสูง และยังจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อตลาดการเงินในภูมิภาคต่างๆ...

      หนี้ภาคเอกชนไทย...น่าเป็นห่วงหรือยัง?

ปัจจุบันไทยมีหนี้ภาคเอกชนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในกลุ่มรายได้เดียวกัน อีกทั้งยังมีระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 การเติบโตของหนี้ภาคเอกชนในระยะหลังมีปัจจัยหลักจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อภาคครัวเรือนจนมีขนาดใกล้เคียงกับสินเชื่อภาคธุรกิจในปัจุบัน เนื่องจากการเข้าถึงสินเชื่อจากทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารที่มีมากขึ้น SCB EIC ประเมินว่า ในปัจจุบัน ขนาดของหนี้ภาคเอกชนยังอยู่ในระดับที่ไม่อันตรายเมื่อพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งมีปัจจัยเกื้อหนุนจากภาวะอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมที่ต่ำ แต่การขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ และภาระชำระหนี้ที่สูงของครัวเรือนที่มีหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้น้อย อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคตทั้งต่อการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อของครัวเรือนและต่อเศรษฐกิจโดยรวม...

ดาวน์โหลดเอกสารเพื่ออ่านต่อฉบับเต็ม


INFO: http://www.scbeic.com/THA/document/eic_outlook_q4_2012/