วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จาก วินมอเตอร์ไซค์ สู่เซียนหุ้น VI ทิวา ชินธาดาพงศ์





เปิดตัว 'เซียนหุ้น VI''สิงห์มอเตอร์ไซค์รับจ้าง' จบการศึกษาแค่ ม.3 เคยล้มเหลวมาแล้วหลายอาชีพ วันนี้ผันตัวเองสู่เจ้าของพอร์ตหุ้นตัวเลข 9 หลัก

น้ำแข็งเกิดจากน้ำ แต่แข็งกว่าน้ำ ผู้ที่รู้ตัวว่าชีวิตเกิดมาต้องต่อสู้ดิ้นรน จึงหมั่นฝึกฝนตนเองให้เข้มแข็ง "มี่" ทิวา ชินธาดาพงศ์ เด็กหนุ่มที่ "ใจถึงจนถึงใจ" เขาไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองและชีวิตเต็มไปด้วยโอกาสเหมือนกับใครหลายๆ คน

ชายหนุ่มอารมณ์ดีวัย 30 กว่ามองย้อนกลับไปในชีวิตเบื้องหลังความสำเร็จ วันแห่งความลำบากยากแค้นผุดขึ้นเป็นฉากๆ ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” วลีนี้อาจต้องถูกลบทิ้งไป คนเดินดิน กินข้าวแกง (ข้างถนน) อย่างเขา ใครจะเชื่อว่าวันนี้จะ "ร่ำรวย" เป็นเจ้าของพอร์ตหุ้น "ตัวเลข 9 หลัก"

ครอบครัวชินธาดาพงศ์ เข้าข่ายเป็นชนชั้น "รากหญ้า" ของสังคมเมืองหลวงที่ชีวิตต้องปากกัดตีนถีบ แม่ยึดอาชีพขายบะหมี่ป๊อกๆ หาเช้ากินค่ำ ส่วนพ่อทำงานบริษัทเอกชนทั่วไป หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา ย่านถนนประชาสงเคราะห์ ทิวาตัดสินใจไม่เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เหมือนเพื่อนๆ ส่วนใหญ่
เขาคลุกตัวอยู่ในสมุดประชาชนย่านซอยรางน้ำ อ่านหนังสือ "ฮาวทู" ที่สอนเกี่ยวกับ "วิธีคิด" หนา 250 หน้าเล่มหนึ่งจนจบ ชีวิตเด็กหนุ่มมีกำลังใจขึ้นราวปาฏิหาริย์ พร้อมทั้งตั้งปณิธานแน่วแน่กับตัวเองว่า "ชีวิตนี้กูต้องรวยให้ได้"

อาชีพแรกของเด็กหนุ่มเริ่มจากอาชีพขับ “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" เพื่อนสนิทมาชักชวนโดยบอกว่า "เงินดีมาก" ได้เดือนละ 30,000 บาท เขาจึงฝันต่อว่าถ้าได้เดือนละ 30,000 บาท ปีหนึ่งก็ 360,000 บาท “กูรวยแน่” เพราะในชีวิตอย่าว่าแต่เงินหมื่นเงินแสนเลย แค่เงินหลักพันยังแทบไม่เคยได้จับ

ช่วงนั้นแม่ของทิวากลุ้มใจมากที่ลูกจบแค่ชั้น ม.3 ไม่ยอมเรียนต่อ ทุกคนในบ้านมองไม่เห็นอนาคตของเขาที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย ขณะที่น้องสาวและน้องชายเรียนหนังสือเก่งทั้งสองคน ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ไม่กี่เดือนก็ต้องเลิกเพราะพ่อแม่ซึ่งมาจากครอบครัวคนจีนอับอายเพื่อนบ้านที่ลูกชายคนโต "ไม่เอาถ่าน"

ทุกอย่างในชีวิตเหมือน "ฝันสลาย" พ่อตัดสินใจส่ง “มี่” ในวัย 14 ย่าง 15 ปี ไปเรียนภาษาจีนกลาง ณ โรงเรียนกวางโจวตั๋วหวี่เหวี่ยนเหว่นฮั่ง เมืองกวางโจว ประเทศจีน เป็นเวลา 2 ปี โดยให้ไปอาศัยอยู่กับพี่ชายต่างมารดาของพ่อที่ไปปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองจีนกับภรรยาและลูก 2 คน หวังให้ลูกชายได้ภาษาจีนและกลับมายึดอาชีพเป็น "ไกด์นำเที่ยว" ที่เมืองไทย การเดินทางไปกวางโจว ประเทศจีนได้เปลี่ยนชีวิตของทิวาจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 2 ปีครึ่ง

"หลังกลับมาจากเมืองจีน ผมก็ไปทำอาชีพไกด์นำเที่ยวสมใจคุณพ่อ แต่ทำได้แค่ 1 เดือน ก็ตัดสินใจลาออก เพราะรู้สึกไม่ใช่ทางของเรา ต้องตื่นมาทำอะไรซ้ำซาก ไปในที่เดิมๆ พูดเหมือนกันทุกวันน่าเบื่อมาก"

หลังจากนั้นก็ไปทำอาชีพเซลส์แมนขายเครื่องเสียงตามร้านคาราโอะ ทำได้ 1-2 สัปดาห์ ก็ลาออกอีก ระหว่างนั้นได้ไปอ่านหนัง How to เล่มหนึ่ง เขาพูดถึงวิธีการทำอย่างไรจึงจะ “รวย” หนึ่งในนั้นเขาแนะนำให้ไปทำอาชีพ "ขายตรง" หรือ "ขายประกัน"

อ่านจบก็รีบไปสมัครเป็นพนักงานขายประกันชีวิต "เอไอเอ" ทันที ทำได้ 2 ปี ลาออกอีกรู้สึกว่าต้องไปง้อให้คนมาซื้อประกัน..มันขายยาก แต่ชีวิตก็ยังวนเวียนอยู่ในอาชีพเซลส์ "ลงแรง ไม่ต้องลงทุน" คราวนี้ไปเป็นพนักงานขายรถยนต์ยี่ห้อ "มิตซูบิชิ" แถวสามย่าน ไม่มีเงินเดือนมีแต่ค่าคอมมิชชั่นถ้าขายรถได้

ช่วงนั้นคิดว่าจะยึดอาชีพนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวันที่ไปทำงานเขาจะทะเยอทะยานมองหัวหน้างานแล้วบอกตัวเองว่า ทำงานอีก 10 ปี ก็จะได้ไปยืนตำแหน่งเดียวกับเขา มีเงินเดือนกิน 30,000 บาท บวกค่าคอมเข้าไปอีกเกือบ 50,000 บาท สุดท้ายทำไปทำมาก็รู้สึกว่างานนี้ไม่ใช่ทางของเราอีก

"ผมลาออกจากเซลส์ขายรถมิตซูบิชิ ไปขายคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ตอนนั้นรู้สึกว่ารักอาชีพนี้มาก ส่วนตัวชอบอะไรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ตื่นไปทำงาน แต่ก็ทำได้แค่ 5 เดือน เพราะเจ้าของร้านจำเป็นต้องปิดกิจการ หลังประสบปัญหาส่วนตัว"

ทิวาเริ่มมองเห็นโอกาสทางการค้า และอยากเปลี่ยนสถานะตัวเองจาก "ลูกจ้าง" มาเป็น "เจ้าของร้าน" เลยไปขอให้แม่ช่วยตีเช็คล่วงหน้าให้เจ้าของร้านเพื่อสวมสิทธิทุกอย่างในร้านเดิม เหตุผลที่สนใจทำธุรกิจขายคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เพราะเห็นว่ามี "กำไรดีมาก" โทรศัพท์ 1 เครื่อง จะได้กำไร 5,000-8,000 บาท สมัยนั้นโทรศัพท์ขายเครื่องละ 30,000 บาท ตอนนั้นกิจการรุ่งเรืองมากมีเงินเข้าร้านเดือนละ "หลายแสนบาท"

แต่แล้วทรัพย์สินเงินทองที่ไหลมาเทมาอย่างไม่ทันตั้งตัวก็มลายหายไปอย่างรวดเร็ว ทำธุรกิจได้ 2 ปี ก็เจอวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 บวกกับช่วงนั้นเขาใช้เงินเกินตัว

"สุภาษิตจีนบอกว่า “ใครรวยก่อนอายุ 30 ไม่มีความมั่นคง แต่ถ้าเลย 30 เจริญแน่นอน” ผมจึงตัดสินใจปิดกิจการ ได้เงินมาหลักล้านบาท ก็นั่งคิดเอาเงินไปทำอะไรดี"

ยอมรับว่าช่วงนั้น "คิดสั้น" ได้ยินมาว่า “เล่นพนันบอล” แล้วจะ “รวย” เล่นไป 5 เดือน "หมดตัว" เพราะเล่นหนักมากจากแทงหลัก "หมื่นบาท" ต่อคู่หลังๆ แทงหลัก "แสนบาท" ปิดพ่อแม่ไม่ให้รู้ แต่ภรรยาที่แต่งงานแบบไม่จดทะเบียนรับรู้พฤติกรรมตลอด

"เชื่อมั้ย! หมดตัวถึงขนาดเหลือเงินติดกระเป๋า 100 บาท จะกินข้าวต้องมานั่งคำนวณกับภรรยาว่าจะพอหรือไม่ ชีวิตกลับมาตกต่ำอีกครั้ง เมื่อหมดตัวก็มานั่งคิดจะทำอะไรดีที่ใช้ทุนน้อยๆ พอดีช่วงนั้นภรรยาชอบไปเดินเซ็นเตอร์วัน ก็ไปเห็นธุรกิจระบายสีตุ๊กตาปูนปั้น ซึ่งขายดีมาก ผมจึงไปยืมเงินญาติมาลงทุนใช้เงินแค่ 10,000-20,000 บาทก็ทำได้แล้ว ตอนนั้นโชคดีมากกิจการดีวันดีคืน มีเงินเข้ากระเป๋า 50,000-60,000 บาทต่อเดือน จึงตัดสินใจขยายอีก 1 สาขา ไปเปิดที่บิ๊กซี ลาดพร้าว"

วันหนึ่งไปเดินเล่นข้างล่างอิมพีเรียล ลาดพร้าว เห็นมีร้านอินเทอร์เน็ตลูกค้าแน่นร้าน กลับบ้านมานั่งทบทวนในเมื่อตัวเองชอบเรื่องเทคโนโลยี และมีเครื่องคอมพิวเตอร์นอนนิ่งอยู่ที่บ้าน 8 เครื่อง ทำไม! ไม่นำมาทำให้เกิดประโยชน์

"ผมเลยไปเช่าพื้นที่เปิดร้านอินเทอร์เน็ต ช่วงนั้นอิมพีเรียล ลาดพร้าว กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ปล่อยค่าเช่าได้ถูกมากเดือนละ 2,000 บาท กิจการรุ่งเรืองมาก เลยขยายอีก 5-6 สาขา เรียกว่า "ยึดหัวหาด" ในย่านลาดพร้าว มีเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 100 เครื่อง ภายใน 2-3 ปี"

ช่วงนั้นเกม Ragnarok Online กำลัง “ฮิต” เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต 9 ปี ก็ปิดกิจการได้เงินสดมา "หลายล้านบาท" จากนั้นก็ไปช่วยกิจการของครอบครัวภรรยาขายแหนมและหมูยอ ตรา "ธัญรัตน์" (ชื่อแม่ยาย) ขายตามตลาดนัด "ขายดีมาก" ระหว่างที่ไปช่วยงานแม่ยาย ตัวเองก็รับซื้อขายแลกเปลี่ยนพวกคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือไปด้วย ทำอาชีพนี้อยู่อีก 1-2 ปี

ทิวา เล่าว่า ในช่วงที่ทำร้านเกม ก็ได้ยินเรื่องตลาดหุ้นแต่ภาพที่รับรู้คือ “เล่นหุ้นเหมือนเล่นการพนัน และเป็นกิจกรรมเฉพาะของคนรวยคนจนหมดสิทธิ” ขณะนั้นก็เลยมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตลาดหุ้น แต่ถึงแม้รู้สึกไม่ดีก็เอาตัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยเพราะเห็นโอกาสทำกำไร เพื่อนสมัยเรียนมัธยมมาเล่นเกมที่ร้านมาชวนให้เล่นหุ้น เขาเป็นมาร์เก็ตติ้งอยู่ที่ บล.เอเซียพลัส

"เขาบอกว่าจะจัดการให้หมดทุกอย่าง เอาเงินมาอย่างเดียว จำได้ว่าช่วงนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย รู้แค่ว่าเพื่อนเอาเงินไปลงทุนหุ้นการบินไทย สุดท้ายขาดทุนไป 70,000 บาท ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ในใจคิดแล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้ ตอนนั้นรู้สึกเข็ด"

แต่โชคชะตาก็ทำให้เขาเข้าสู่วงจรตลาดหุ้น  ทิวา ผู้ใช้นามแฝง "SAI" ในเว็บบอร์ด Thaivi  ชีวิตก่อนจะมาเป็น “เซียนหุ้น VI” ประมาณปี 2551 ด้วยความบังเอิญ ตัวเขา ภรรยาและลูกสาววัย 3 ขวบ ไปเดินเล่นที่ห้างเอสพลานาดย่านรัชดา เดินผ่าน “ห้องสมุดมารวย” ของตลาดหลักทรัพย์ ได้ยิน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กำลังพูดเรื่องการลงทุน มีคนนั่งฟังประมาณ 20 คน

"ผมสะดุดคำที่อาจารย์นิเวศน์พูดขึ้นว่า การเล่นหุ้นมันคือการซื้อธุรกิจ มีเงินเอาไปลงทุนหุ้นดีๆ อีก 20 ปี เงินจะเติบโตเป็นตัวเลข "หนึ่งหลัก" เท่ากับว่าถ้าเราใส่ไป 1 ล้านบาท 20 ปี ได้ 10 ล้านบาท นอกจากผมจะตาลุกวาวแล้ว สมองก็ยังคิดต่อว่า ทำไม! ไม่มีใครบอกแบบนี้เลยนะ...ดร.นิเวศน์ ทำให้ทัศนคติการเล่นหุ้น และชีวิตของผมเปลี่ยนไป" เขายกย่องอย่างชื่นชม

หลังจากนั้น ทิวา รีบไปหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับตลาดหุ้นมานั่งอ่านประมาณ 20-30 เล่ม ใช้เวลาอ่าน 1-2 เดือนก็อ่านจบทั้งหมด แล้วคิดในใจว่าเล่นหุ้น “ง่ายจัง”

"รุ่งขึ้นผมเดินไปตลาดหุ้น เพื่อไปขอเปิดพอร์ตลงทุน ก็ไม่รู้ว่าต้องไปเปิดที่ไหน เจ้าหน้าที่บอกต้องไปเปิดที่โบรกเกอร์ค่ะ ตอนนั้นไม่รู้เรื่องเลยจริงๆ ตัดสินใจตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์ PANTIP แล้วก็มีมาร์เก็ตติ้ง บล.กิมเอ็ง สาขานครราชสีมา ชวนผมไปเปิดพอร์ตกับเขา ด้วยเงินก้อนแรก 500,000 บาท"

เจ้าของนามแฝง SAI (มาจากตัวการ์ตูนเรื่อง ฮิคารุเซียนโกะ) เล่าต่อว่า เทคนิคการลงทุนช่วงนั้น เน้นเล่นตามดร.นิเวศน์ เห็นอาจารย์ถือหุ้น 9-10 ตัว ด้วยความศรัทธาคิดว่า "เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด" และคิดว่าอาจารย์นิเวศน์ "คงไม่ขาย" บวกกับมีนักลงทุน VI นามแฝง “กาละมัง” บอกว่า “อย่ากลัวจงสั่นสู้..อย่าสั่นหนี” ก็เลยตัดสินใจ "ซื้อตาม ดร.นิเวศน์"

จำได้ตอนนั้นซื้อหุ้น โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) หุ้น ไว้ท์กรุ๊ป (WG) หุ้น อิโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) (IRC) หุ้น อุตสาหกรรมถังโลหะไทย (TMD) หุ้นไอที ซิตี้ (IT) และหุ้น เอสวีโอเอ (SVOA)

สุดท้ายติดนิสัย “แมลงเม่า” เห็นราคาหุ้นขึ้นดีใจเลยขายออกบางตัว เหลือติดพอร์ตแค่หุ้น HMPRO, IT และ SVOA แล้วเอาเงินไปซื้อหุ้นตัวอื่นตามคำแนะนำของคนเก่งๆ ในเว็บไซต์ Thaivi ก็มีซื้อหุ้น เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) และหุ้น โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL

"ระหว่างนั้นผมก็ทยอยใส่เงินเข้าไปอีก 5 ล้านบาท สุดท้ายเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 (ซับไพร์ม) ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะขาลงรุนแรง ผมขาดทุน "หลักล้านบาท” มันเป็นตัวเลขที่เยอะมากสำหรับชีวิตผม แต่ก็ไม่ขายนะ เอาแต่นั่งเครียด ไปขุดหนังสือทุกเล่มมาอ่านใหม่ เปลี่ยนทฤษฎีการลงทุนใหม่ยกแผง พร้อมทยอยใส่เงินเพิ่มในช่วงที่ดัชนีลงต่ำ 300-400 จุด ในช่วงปลายปี 2551 อีกประมาณ 2-3 ล้านบาท"

เทคนิคการลงทุนแบบไหนที่ทำให้พอร์ตลงทุนของ ทิวา ชินธาดาพงศ์ จากเงินไม่กี่ล้านบาท วันนี้ทะยานสู่เลข "เก้าหลัก" ติดตามต่อใน "สัปดาห์หน้า" บอกได้คำเดียว คนจบ ม.3 แต่ฝีมือ "ระดับเซียน"


INFO: http://www.bangkokbiznews.com